Back to Schedule
Donate

    คำนำ

    “ผู้ประสงค์แสวงหาพระเจ้า ไม่แสวงหาสิ่งอื่นใดนอกจากพระเจ้า ยินดีโอบรับวิถีการสละละอย่างไม่คำนึงถึงตัวตนด้วยความเกษมเบิกบาน พระเจ้าทรงเผยพระองค์แก่ผู้ดำเนินชีวิตด้วยการสละละ: ‘พระเจ้าเป็นชีวิตของข้าพเจ้า เป็นความรัก เป็นวิหารเรียกหัวใจของข้าพเจ้าให้สักการะพระองค์อยู่ทุกเมื่อ พระเจ้าคือเป้าหมายของข้าพเจ้า การงานใดไม่อาจสำเร็จได้ถ้าไม่ได้พลังที่ยืมมาจากพระเจ้า หน้าที่สูงสุดของข้าพเจ้าจึงต้องแสวงหาพระองค์’”

    ปรมหังสา โยคานันทะ

    “ความเกษมที่เพิ่มพูนขึ้นทุกปี” โปรดประทานพระหทัยแก่ข้าพระองค์: ชีวิตของนักบวชหญิงแห่งเอสอาร์เอฟในโยคานันทะอาศรม

    “พบความเกษมในการแสวงหาพระเจ้าไปด้วยกัน” โปรดประทานพระหทัยแก่ข้าพระองค์: ชีวิตของนักบวชชายแห่งเอสอาร์เอฟในโยคานันทะอาศรม

    หัวใจของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพคือสังฆะแห่งนักบวชผู้อุทิศตน ก่อตั้งโดยปรมหังสา โยคานันทะ

    นักบวชชายหญิงแห่งเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพรับใช้สมาคมเพื่อการงานทางธรรมและมนุษยธรรมทั่วโลกด้วยความสามารถที่หลากหลาย – จากการจัดพิมพ์ข้อเขียนและบทบันทึกเสียงของปรมหังสาจีและศิษย์สายตรงของท่าน ให้คำแนะนำด้านธรรม นำการฝึกปฏิบัติในอาราม จัดการเข้าเงียบ และเดินทางบรรยายธรรม ไปจนถึงการบำรุงรักษาอาคาร สวนสมาธิ และอาศรม ดูแลการจัดส่งบทเรียนและหนังสือของเอสอาร์เอฟ และทำหน้าที่บริหารหลายด้าน ทั้งในสำนักงาน และหน้าที่อื่นๆ ในการดำเนินงานขององค์กรศาสนานานาชาติ

    ทว่า หน้าที่สำคัญของนักบวชเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพทุกท่าน คือเติบโตงอกงามด้วยความรักและปรารถนาพระเจ้าอย่างบริสุทธิ์ใจในทุกๆ วัน – สละละอหังการเล็กๆ น้อยๆ ทั้งสิ้น เพื่อให้พระเจ้ากลายเป็นสิ่งจริงในชีวิตทุกเวลานาที ทุกวัน จนหลุดพ้นรวมกับบรมวิญญาณในที่สุด

    Py Apyw Men4
    ปรมหังสา โยคานันทะ กับ ศรีทยมาตา หนึ่งในศิษย์รุ่นแรกที่ปฏิญาณตนเป็นนักบวช และหลังจากศรีทยมาตาเข้ามาอยู่ที่อาศรมเอสอาร์เอฟในปี 1931 ท่านคุรุได้กล่าวกับท่านว่า “เธอเป็นไข่ในรังของฉัน ตอนที่เธอมา ฉันรู้ว่าเธอจะดูดดึงผู้ภักดีที่แท้อีกมากมายมาสู่วิถีนี้”

    ประเพณีโบราณนานหลายศตวรรษ

    ตลอดมาทุกยุคทุกสมัย แรงเร้าลึกสุดในจิตวิญญาณของมนุษย์คือต้องการรักแท้อันอุดม ต้องการความเข้าใจ ความเบิกบานและความสมบูรณ์พร้อม – ซึ่งก็คือสัจจะนั่นเอง ทุกศาสนาหลักๆ ของโลกมีผู้เลือกสละละจากชีวิตครอบครัวและภาระรับผิดชอบทางโลก เพื่ออุทิศตนมุ่งแสวงหาพระเจ้า

    นักบวชชายหญิงแห่งเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพได้สืบทอดประเพณีโบราณนานหลายศตวรรษนี้ ด้วยการปฏิญาณวัตรปฏิบัติสี่ประการ: ใช้ชีวิตเรียบง่าย ถือพรหมจรรย์ เคารพเชื่อฟัง และภักดีซื่อตรง ซึ่งเป็นคำปฏิญาณที่เป็นรากฐานสำคัญของศาสนาทั้งในโลกตะวันออกและตะวันตก

    นิกายสวามีแห่งอินเดียโบราณ

    ปรมหังสา โยคานันทะกับคุรุของท่าน สวามีศรียุกเตศวร เป็นส่วนหนึ่งของนิกายสวามีโบราณแห่งอินเดีย ซึ่งได้ปรับเป็นรูปแบบปัจจุบันเมื่อหลายศตวรรษก่อน โดย อทิศังกราจารย์ และได้ดำเนินสืบมาถึงปัจจุบันผ่านสายธรรมาจารย์ผู้น่าเลื่อมใสอย่างไม่ขาดสาย นักบวชทุกท่านในนิกายสวามีสืบสายธรรมไปถึงท่านอทิศังกราจารย์ ท่านเหล่านี้ปฏิญาณอยู่อย่างยากจน (ไม่ยึดติดกับการครอบครอง) ถือพรหมจรรย์ เชื่อฟังหัวหน้าหรือผู้นำทางจิตวิญญาณ นักบวชคริสต์นิกายคาทอลิกดำเนินชีวิตคล้ายคลึงกับนักบวชนิกายสวามีที่เก่าแก่กว่าในหลายๆ ด้าน นิกายสวามีแบ่งเป็นสาขาย่อยๆ สิบสาขา รวมทั้งสาขา คีรี (“ภูเขา”) ซึ่งสวามีศรียุกเตศวรและปรมหังสา โยคานันทะสังกัด

    นักบวชชายหญิงแห่งเซล์ฟ รีอะไลเซชัน เฟลโลชิพ ผู้ปฎิญาณครั้งสุดท้ายที่จะสละละล้วนเป็นสมาชิกของนิกายสวามี

    ปรมหังสา โยคานันทะก่อตั้งสังฆะแห่งเอสอาร์เอฟครั้งแรกเมื่อต้นทศวรรษ 1930 พร้อมกับการเข้ามาของศรีทยมาตา (1914-1920) และศิษย์ผู้อุทิศตนคนอื่นๆ ผู้ปรารถนาสละละชีวิตทางโลกอุทิศชีวิตเพื่อพระเจ้า หลังจากปรมหังสาจีละสังขารเมื่อปี 1952 สังฆะแห่งเอสอาร์เอฟยังเจริญก้าวหน้าภายใต้การนำของศิษย์ผู้รับตำแหน่งประธานและผู้นำจิตวิญญาณของสมาคมต่อจากท่าน (รวมถึงสมาคมโยโคทะสัตสังคะ แห่งอินเดีย ซึ่งเป็นนามการงานของปรมหังสา โยคานันทะอันเป็นที่รู้จักกันในอินเดีย)

    ศรีทยมาตามีบทบาทสำคัญตลอดช่วงเวลาที่ท่านอยู่ในตำแหน่งอย่างยาวนาน ท่านกระตือรือร้นสนใจพัฒนาโครงการฝึกฝนผู้สละละ ตลอดจนพัฒนาอาศรมเอสอาร์เอฟ/วายเอสเอส ทั้งในอเมริกา ยุโรปและอินเดีย โดยมีศรีมฤนลินีมาตา (1931-2017) ซึ่งเป็นรองประธานเอสอาร์เอฟ/วายเอสเอส และรับตำแหน่งประธานต่อจากศรีทยมาตาในปี 2011 เป็นผู้ช่วยงานอย่างขยันขันแข็งตลอดหลายทศวรรษนั้น ปี 2017 ภราดาจิทานันทะได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานและรับผิดชอบในการนำสังฆะแห่งเอสอาร์เอฟ/วายเอสเอส สังฆะเหล่านี้ที่เจริญก้าวหน้ามาถึงปัจจุบันประกอบด้วยนักบวชชายหญิงหลายร้อยคน ผู้รับรู้เสียงเรียกให้อุทิศชีวิตเพื่อแสวงหาพระเจ้าและรับใช้มนุษยชาติ

    ชีวิตประจำวันในอาศรม

    ชีวิตประจำวันในอาศรม

    ในฐานะนักบวช ข้าพเจ้าอุทิศชีวิตรับใช้พระเจ้า เพื่อปลุกใจและจิตวิญญาณให้รู้ตื่นอยู่กับสารแห่งพระองค์...งานขององค์กรที่พระเจ้า คุรุและปรมคุรุของข้าพเจ้าได้ริเริ่มผ่านตัวข้าพเจ้าดำเนินต่อไปโดยเหล่าผู้ที่อุทิศชีวิตเพื่อเป้าหมายสูงสุดของรักและการสละละเพื่อพระเจ้า

    ปรมหังสา โยคานันทะ

    ภูมิหลังต่างๆ นานามารวมกัน

    เพื่อดำเนินตามพระบัญญัติสำคัญสองประการที่พระคริสต์ได้ประทานไว้ อุดมคติของนักบวชคือการรักพระเจ้าอย่างสุดจิตสุดใจ และ รัก “เพื่อนบ้าน” ใช่แค่รักอย่างนามธรรมตามทฤษฏี หากแต่รักในการปฏิสัมพันธ์ต่อกันในชีวิตประจำวัน – ต่างเห็นกันในภาพลักษณ์ของพระเจ้า สัมผัสถึงความต้องการของผู้อื่นดุจเดียวกับความต้องการของตนเอง ปรมหังสาจีกล่าวว่า “เมื่อก่อนเราต่างเป็นคนแปลกหน้า ทว่าเมื่อเรารักพระเจ้า เรากลายเป็นพี่น้องกัน”

    นักบวชชายหญิงแห่งเอสอาร์เอฟมาจากภูมิหลังที่แตกต่างอย่างมากมาย – ต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม เติบโตด้วยศาสนาที่แตกต่าง พัฒนาการด้านการศึกษาและประสบการณ์งานอาชีพที่แตกต่าง แต่สิ่งที่นักบวชทุกท่านมีร่วมกันคือความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะดำเนินชีวิตเพื่อพระเจ้าเท่านั้น

    นักบวชแสวงหาประสบการณ์ความปีติสุขล้ำลึกแห่งวิญญาณและรักอันเลิศล้ำที่พระเจ้าเท่านั้นประทานให้ได้ด้วยวินัยควบคุมตน ด้วยการใคร่ครวญ ปฏิบัติสมาธิอย่างเต็มศรัทธา และการถวายชีวิตรับใช้ด้วยความรัก

    SRF-Daily-Life-Nuns-Study.png#asset:5831
    SRF-Daily-Life-Nuns-Hike.jpg#asset:5842

    ชีวิตในอาศรมให้อิสรภาพแก่ข้าพเจ้าที่จะใช้ชีวิตตามความฝัน – ให้พระเจ้าเป็นดาวเหนือแห่งชีวิต ให้ข้าพเจ้าได้อุทิศชีวิตแสวงหาและรับใช้พระเจ้ากับคุรุจี นี่เป็นชีวิตอิ่มเอิบอย่างที่ข้าพเจ้านึกไม่ถึง

    นักบวชหญิงท่านหนึ่งซึ่งใช้ชีวิตในอารามมาตลอด 14 ปี

    ชีวิตประจำวันในอาศรม

    กิจวัตรประจำวันของผู้สละละแตกต่างกันไปในแต่ละศูนย์ของอาศรม และประเภทของการงานที่แต่ละคนได้รับมอบหมาย แต่ทั้งนี้ต้องมีองค์ประกอบเบื้องต้น ซึ่งปรมหังสาจีย้ำเสมอว่าให้เป็นชีวิตจิตวิญญาณที่มีดุลยภาพคือ การปฏิบัติสมาธิและอธิษฐาน การรับใช้ ศึกษาด้านจิตวิญญาณและการใคร่ครวญ บริหารพลังกับนันทนาการ และต้องมีเวลาปลีกตัวอยู่เงียบๆ

    SRF-Daily-Life-Nun-Med.jpg#asset:5830

    รับใช้พันธกิจทั่วโลกของเอสอาร์เอฟ

    นักบวชชายหญิงแห่งเอสอาร์เอฟรับใช้งานของสมาคมทางธรรมและมนุษยธรรมทั่วโลกด้วยศักยภาพหลายๆ ด้าน:

    พิมพ์เผยแพร่ข้อเขียนและบทบันทึกเสียงของปรมหังสาจีและศิษย์สายตรงของท่าน (ในสื่อทุกประเภท)

    ให้คำปรึกษาด้านธรรม

    นำการภาวนา การเข้าเงียบ และธรรมสัญจร

    บริหารจัดการกว่า 600 ศูนย์และกลุ่มทั่วโลก

    บำรุงรักษาอาคาร สวนสมาธิ และ อาศรมทั้งหลายของเอสอาร์เอฟ

    ดูแลงานกระจายบทเรียน หนังสือ อีบุ๊กส์ และแถบบันทึกเสียงของเอสอาร์เอฟ

    ดำเนินงานด้านการบริหาร จัดการสำนักงาน และหน้าที่อื่นๆ ในการดำเนินงานขององค์กรศาสนานานาชาตินี้

    แม้ว่าจะมีวิธีการสมัยใหม่หลายอย่างในการทำกิจกรรมที่หลากหลายนี้ แต่ว่าหลักสำคัญในการทำงานคือต้องรักษาความบริสุทธิ์และหัวใจของการเผยแผ่คำสอนซึ่งปรมหังสา โยคานันทะได้รับบัญชาจาก คุรุในสายธรรมแห่งเอสอาร์เอฟ ให้นำมาสู่โลก เสียงเรียกสูงสุดของนักบวชชายหญิงแห่งเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพทุกท่าน คือปรับจิตเข้ากับพระเจ้าให้ยิ่งๆ ขึ้นทุกวัน อันจะทำให้สามารถรับใช้ทุกคนได้ด้วยความเข้าใจและกรุณา

    SRF-Daily-Life-Monks-Chapel.jpg#asset:5836

    ข้าพเจ้าตระหนักมากขึ้นๆ ว่าการยังชีวิตด้วยการรับใช้ และแสวงหาพระเจ้าได้อย่างอิสระในอาศรมของท่านคุรุ ซึ่งแวดล้อมด้วยวิญญาณที่อุทิศตนอย่างจริงใจนั้นเป็นพระพรยิ่ง

    นักบวชชายท่านหนึ่งซึ่งใช้ชีวิตในอาศรมมาตลอด 7 ปี

    สี่ขั้นตอนของชีวิตนักบวช

    “ข้าพเจ้าถวายชีวิต แขนขา

    ความคิดและวาจา

    เพราะทุกสิ่งเหล่านี้เป็นของพระองค์; เพราะทุกสิ่งเหล่านี้เป็นของพระองค์”

    — ปรมหังสา โยคานันทะ


    ชีวิตของนักบวชในอาศรมเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพมีสี่ขั้นตอน ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นในการปฏิญาณใช้ชีวิตนักบวชผู้สละละที่ค่อยๆ ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ขั้นตอนเหล่านี้ไม่ได้กำหนดระยะเวลาตายตัว ทว่าการเติบโตทางจิตวิญญาณของนักบวชแต่ละท่าน และความพร้อมที่จะอุทิศตนเพื่อชีวิตเช่นนี้ มักขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของปัจเจกแต่ละคน

    เตรียมตัว

    ขั้นแรกหรือขั้นเตรียมตัว ปกติใช้เวลาสองปี ผู้เตรียมตัวต้องปฏิบัติวัตรปฏิบัติของนักบวช รวมทั้งการปฏิบัติสมาธิกลุ่มและปฏิบัติเดี่ยว ศึกษาคำสอนและคำแนะนำด้านจิตวิญญาณ และรับใช้งานที่ได้รับมอบหมาย โปรแกรมการเตรียมตัวนี้ได้รับการออกแบบ เพื่อให้ผู้เตรียมตัวเข้าใจอุดมคติและวิถีชีวิตของนักบวช เน้นการช่วยผู้เตรียมตัวให้พัฒนาเจตคติและนิสัยที่จะเอื้อต่อชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณและการปรับจิตเข้ากับพระเจ้าและคุรุ ขั้นตอนแรกของชีวิตนักบวชนี้ช่วยผู้สละละให้สำรวจว่าตนมีความปรารถนาที่จะหันมาสู่วิถีการสละละมากน้อยเพียงใด พร้อมๆ กับเปิดโอกาสให้ผู้รับผิดชอบต่อความผาสุกทางจิตวิญญาณของผู้สละละได้แนะนำเขาหรือเธอให้เข้าใจชีวิตนักบวชอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

    นวกะ

    เมื่อสิ้นสุดขั้นเตรียมตัว ถ้าทั้งผู้เตรียมตัวและผู้ให้คำแนะนำเชื่อว่าเขาหรือเธอเหมาะกับชีวิตอาศรม ผู้เตรียมตัวจะได้รับเชิญให้ปฏิญาณเป็นนวกะ ด้วยการปฏิญาณนี้ผู้สละละต้องปฏิบัติศีลสี่ข้ออย่างเป็นทางการมากขึ้น ในช่วงนวกะนี้ นวกะต้องแสดงให้เห็นว่าตนเข้าใจวินัยนักบวชที่ได้ฝึกฝนเล่าเรียนในขั้นเตรียมตัวแล้วอย่างดี

    พรหมจรรย์ (พรหมจริยา)

    หลังจากเป็นนวกะอยู่หลายปีและนวกะแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาและความสามารถที่จะอุทิศแสวงหาและรับใช้พระเจ้าในฐานะนักบวชของเอสอาร์เอฟ เขาหรือเธอจะได้รับนิมนต์ให้ปฏิญาณถือพรหมจรรย์ (พรหมจริยา ภาษาสันสกฤต หมายถึง วินัยและการควบคุมตน ทั้งความคิดและการกระทำเพื่อรวมตัวตนกับบรมวิญญาณ) ซึ่งมีนัยความหมายว่า ศิษย์ผู้นี้มุ่งมั่นที่จะเป็นนักบวชอยู่ในอาศรมเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ดำเนินชีวิตตามคำปฏิญาณที่จะใช้ชีวิตเรียบง่าย ถือพรหมจรรย์ เชื่อฟัง และซื่อสัตย์ภักดีไปตลอดชีวิต

    นักบวชชายผู้ได้ปฏิญาณเช่นนี้แล้ว ได้ชื่อว่าเป็น พรหมจารี และนักบวชหญิง พรหมจารินี เลิกใช้นามสกุลเดิม ในอาศรมจะเรียกท่านนั้นๆ ด้วยฐานะกับชื่อแรก – เช่น “พรหมจารี จอห์น” “พรหมจารินี แมรี” พรหมจารี หรือพรหมจารินี รับรู้ว่าท่านต้องมีภาระรับผิดชอบมากขึ้นในอาศรม – ฝึกเป็นผู้นำการภาวนาในโบสถ์ รับภาระงานที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษ หรือ รับใช้ด้านอื่นๆ ตามที่ที่ปรึกษาด้านธรรมให้แก่นักบวชแนะนำให้ปฏิบัติ

    Monasti-Order-Brahmacharya.jpg#asset:7120


    สันยาส

    การปฏิญาณขั้นสุดท้ายหมายถึงการที่ผู้สละละอุทิศทั้งชีวิตให้แก่พระเจ้า คุรุ ปรมคุรุ และเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ และต่อคำปฏิญาณตลอดจนอุดมการณ์ ซึ่งตนได้ปฏิญาณว่าจะปฏิบัติด้วยศรัทธาในฐานะนักบวชชายหญิงแห่งเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ แสดงถึงวิญญาณที่มุ่งมั่นละวางความปรารถนาเล็กๆ น้อย ๆ ทั้งหลาย มีชีวิตอยู่เพื่อพระเจ้าเท่านั้น อุทิศตนอย่างซื่อสัตย์ไร้เงื่อนไขรับใช้พระเจ้าบนวิถีแห่งเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ การปฏิญาณสันยาส นี้กระทำได้หลังจากใช้ชีวิตนักบวชมาแล้วหลายปี และหลังจากที่พรหมจารี หรือพรหมจารินี ได้พิสูจน์ให้ตนเองและผู้ใหญ่เห็นแล้วว่าตนพร้อมที่จะปฏิบัติคำปฏิญาณขั้นสุดท้ายนี้ การปฏิญาณนี้สอดคล้องกับการปฏิญาณของสมาชิกนิกายสวามีโบราณในอินเดีย เมื่อนักบวชชายหรือหญิงกลายเป็นสันยาสี หรือ สันยาสินี ท่านจะได้นามภาษาสันสกฤต อันแสดงถึงอุดมคติทางจิตวิญญาณ หรือคุณธรรมอันเป็นแบบอย่าง หรือคุณธรรมที่ท่านได้รับ เรียกนักบวชชายผู้ถือคำปฏิญาณนี้ว่า “ภราดา” (ในอินเดียเรียกว่า“สวามี”) เรียกนักบวชหญิงว่า “ซิสเตอร์” (หรือในอินเดียเรียกว่า “ไม”)

    เมื่อได้อุทิศชีวิตแด่พระเจ้าแล้วอย่างบริบูรณ์ สันยาสียิ่งมุ่งมั่นทำตนให้สมบูรณ์ด้วยการรับใช้อย่างพากเพียร แต่เหนืออื่นใดคือรักพระเจ้า ท่านรับภาระศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องเป็นแบบอย่างตามอุดมคติคำสอนของปรมหังสา โยคานันทะและสมาคม และแบบอย่างนั้นเป็นแรงดลใจให้ผู้อื่นกล้าที่จะแสวงหาพระเจ้า

    Monastic-Order-Sannyas.jpg#asset:7119

    ท่านได้ยินเสียงเรียกจากพระเจ้าหรือไม่?

    การงานของนักบวช

    จงตั้งจิตแนบแน่นในเรา ศรัทธาภักดีต่อเรา ถวายทุกสิ่งบูชาเรา น้อมนมัสการเรา เจ้าเป็นที่รักแห่งเรา เราจึงสัญญาด้วยความสัตย์จริง เจ้าจะเข้าถึงเรา! จงละจากธรรมะ (หน้าที่) อื่นทั้งสิ้น ระลึกถึงแต่เรา!

    ภควัทคีตา

    ใจของท่านหันหาชีวิตที่อุทิศแด่พระเจ้าและคุรุ ยินดีรับใช้พันธกิจของท่านเหล่านั้นหรือไม่?

    ท่านปรารถนาเป็นส่วนหนึ่งของสังฆะแห่งวิญญาณแสวงหาพระเจ้า พร้อมจะมุ่งมั่นไปด้วยกันเพื่อเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดนั้นหรือไม่?

    ถ้าเป็นเช่นนั้น ท่านอาจพิจารณาได้ว่าชีวิตการสละละเป็นคำตอบต่อเสียงเรียกจากภายในนั้น

    ข้อกำหนดทั่วไป (พิจารณาผู้สมัครแต่ละคนตามสภาพการณ์และคุณสมบัติ):

    การอยู่ในอาศรมเอสอาร์เอฟเป็นโอกาสดีที่ท่านได้รับพรให้สร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพระเจ้าได้อย่างลึกซึ้ง และรับใช้การงานด้านมนุษยธรรมทั่วโลก ของปรมหังสา โยคานันทะในชุมชนที่ส่งเสริมจิตวิญญาณ

    เชิญติดต่อเรา

    เพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโอกาสการใช้ชีวิตที่อุทิศให้แก่การพัฒนาตนเอง การปฏิบัติสมาธิ และทำงานรับใช้มนุษยชาติในอาศรมของปรมหังสา โยคานันทะ เชิญท่านติดต่อเรา

    สันยาส: ชีวิตที่ถวายตัวเป็นนักบวช

    เดือนกรกฎาคม 1915 เมื่อร้อยปีก่อน ปรมหังสา โยคานันทะได้บวชเข้าสู่นิกายสวามีโบราณของอินเดีย เมื่อได้รับสันยาสปฏิญาณ (การสละละโลก) โดยคุรุของท่าน สวามีศรียุกเตศวร ที่เซรัมปอร์ ประเทศอินเดีย เหตุการณ์นี้ใช่แค่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของมุกุณฑะ ลาล โฆษ วัยยี่สิบสองปี – ที่ได้กลายเป็นสวามีโยคานันทะคีรี – เท่านั้น แต่เป็นบุพนิมิตอิทธิพลปลุกจิตวิญญาณของโลกศตวรรษที่ยี่สิบและต่อๆ ไปภายหน้า ประเพณีนักบวชที่ท่านได้สถาปนาเป็นส่วนสำคัญไม่น้อยในมรดกอันยั่งยืนของท่าน

    Sannyas Anandamoy With New Initiates Into The Swami Order
    สวามีอานันทโมยี (แถวหน้า คนกลาง) กับผู้เพิ่งได้รับการอภิเษกเข้าสู่นิกายสวามี พร้อมด้วย สวามีอัชลนันทะคีรี (ยืนด้านซ้าย) และสวามีวิศวนันทะคีรี (ยืนด้านขวา) ที่สำนักงานใหญ่นานาชาติเอสอาร์เอฟ, 2006

    นิกายสวามีโบราณที่ปรมหังสา โยคานันทะสังกัดเจริญก้าวหน้ามาถึงปัจจุบันในสังฆะแห่งเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ประกอบด้วยนักบวชชายหญิงจากนานาประเทศทั่วโลก ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง AWAKE สารคดีเกี่ยวกับชีวิตของโยคานันทะจี (ออกฉายเมื่อปี 2014) นิกายนี้ส่งเสริมให้เอสอาร์เอฟเติบโตไปทั่วโลก และช่วยให้โยคะแผ่เผยอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชาติทั้งหลาย

    ปรมหังสาจีได้เขียนถึงสังฆนิกายที่ท่านก่อตั้งว่า “สำหรับข้าพเจ้าแล้ว การสละละอย่างอุทิศตนในฐานะนักบวชนิกายสวามี เป็นเพียงคำตอบเดียวต่อความปรารถนาเร่าร้อนในใจที่จะถวายชีวิตต่อพระเจ้า ไม่ประนีประนอมกับพันธะทางโลกใดๆ....

    “ในฐานะนักบวช ข้าพเจ้าถวายชีวิตรับใช้พระเจ้าอย่างไม่ลดละ และปลุกใจให้ตื่นรู้จิตวิญญาณด้วยพระวรสารแห่งพระองค์ สำหรับผู้ที่อยู่บนวิถีที่ข้าพเจ้าดำเนิน และสัมผัสเสียงเรียกให้สละละอย่างอุทิศตน เพื่อแสวงหาและรับใช้พระเจ้าด้วยอุดมคติโยคะ กระทำหน้าที่ด้วยจิตที่เป็นสมาธิ ข้าพเจ้าได้สืบสานสังฆะนิกายแห่งเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ/สมาคมโยโคทะสัตสังคะแห่งอินเดียตามสายธรรมสันยาสในนิกายศังกร ซึ่งข้าพเจ้าได้เข้าสังกัดเมื่อได้รับปฏิญาณสวามีอันศักดิ์สิทธิ์จากคุรุของข้าพเจ้า งานองค์กรที่ข้าพเจ้า คุรุ และปรมคุรุของข้าพเจ้าได้เริ่มผ่านตัวข้าพเจ้ายังดำเนินต่อไป ... โดยผู้ที่อุทิศชีวิตเพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการสละละและรักพระเจ้า”

    Sannyas Nuns Chapel
    นักบวชหญิงประชุมกันที่ญาณมาตาอาศรม ณ ศูนย์แม่ ในพิธีรำลึกถึงลาหิริ มหัสยะ ชีวิตในอารามรวมถึงการปฏิบัติสมาธิกลุ่ม และรับใช้การงานทางธรรมและมนุษยธรรมทั่วโลกของปรมหังสา โยคานันทะ

    “ข้าพเจ้ากลายเป็นนักบวชนิกายสวามี”

    โดย ปรมหังสา โยคานันทะ

    (คัดจาก อัตชีวประวัติของโยคี)

    Yogananda And Sri Yukteswar 1935 Py 3505 C 18 034 E

    “ท่านอาจารย์ครับ พ่อรบเร้าจะให้กระผมเข้าทำงานในตำแหน่งผู้บริหารของบริษัทเดินรถไฟ เบงกอล-นาคปุระให้ได้ แต่กระผมปฏิเสธพ่อไปเป็นคำขาดแล้ว” แล้วข้าพเจ้าก็ถามต่ออย่างวาดหวังว่า “อาจารย์ขอรับ อาจารย์จะไม่บวชกระผมเข้าสำนักสวามีจริงๆ หรือขอรับ” ข้าพเจ้ามองท่านด้วยสายตาวิงวอน ตลอดหลายปีที่ผ่านมาอาจารย์เอาแต่ปฏิเสธคำขอทำนองนี้ เพราะต้องการทดสอบความมุ่งมั่นของข้าพเจ้า แต่วันนี้ ท่านกลับยิ้มให้ด้วยความเมตตา

    “ตกลง พรุ่งนี้ครูจะบวชเธอเข้าสำนักสวามี” แล้วท่านก็พูดต่อด้วยนำเสียงอันราบเรียบว่า “ครูดีใจที่เธอยังมั่นคงในความประสงค์ที่จะบวชเป็นสวามี ท่านคุรุลาหิริ มหัสยะมักพูดเสมอว่า ‘หากไม่ทูลเชิญพระเป็นเจ้าให้เสด็จมาเยือนเจ้าในยามคิมหันต์ พระองค์ย่อมไม่เสด็จมาหายามเมื่อชีวิตเจ้าล่วงเข้าสู่ฤดูเหมันต์’”

    “อาจารย์ขอรับ กระผมไม่มีวันสละละทิ้งความคิดที่จะบวชเป็นสวามีเหมือนดังเช่นอาจารย์ที่กระผมเคารพเลื่อมใส” ข้าพเจ้ายิ้มให้ท่านด้วยความเคารพรักอย่างสุดประมาณ….

    การจัดลำดับพระเป็นเจ้าเป็นที่สองรองจากสิ่งอื่นในชีวิต เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้านึกภาพไม่ออกเลยจริงๆ พระองค์ทรงเป็นเจ้าแห่งจักรวาลเพียงหนึ่งเดียว ทรงประทานของขวัญให้แก่มนุษย์โดยไม่ได้ทรงป่าวประกาศมาไม่รู้กี่ชาติกี่ภพ สิ่งเดียวที่มนุษย์จะตอบแทนพระองค์ได้คือ – ความรัก ซึ่งเขามีอำนาจที่จะถวายหรือไม่ถวายให้แก่พระองค์ก็ได้....

    วันรุ่งขึ้นเป็นอีกวันหนึ่งที่ข้าพเจ้าจดจำไม่มีวันลืม เป็นวันพฤหัสบดีที่ท้องฟ้าสดใส ตะวันฉายแสงจ้าในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1915 หลังข้าพเจ้าเรียนจบไม่กี่สัปดาห์ บนระเบียงด้านในของอาศรมที่เซรัมปอร์ อาจารย์ได้นำผ้าไหมสีขาวผืนใหม่มาย้อมให้เป็นสีฝาด อันเป็นสีประจำตัวของนักบวชในสำนักสวามี หลังตากจนแห้งแล้วท่านนำผ้าผืนนี้มาห่มให้ข้าพเจ้าเยี่ยงอาภรณ์ของผู้สละแล้วซึ่งทางโลกทั้งหลาย….

    ขณะคุกเข่าอยู่เบื้องหน้าท่านคุรุศรียุกเตศวร ได้ยินท่านเอ่ยนามใหม่ของข้าพเจ้าเป็นครั้งแรก ใจของข้าพเจ้าก็ให้สำนึกในพระคุณของท่านยิ่งนัก ที่ท่านยอมทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เฝ้าอบรมสั่งสอนด้วยความรักอันเปี่ยมล้น เพื่อที่สักวันหนึ่งข้างหน้า เด็กชายมุกุณฑะจะได้กลายมาเป็นสวามีโยคานันทะ! ข้าพเจ้าสาธยายบทสวดภาษาสันสกฤตของท่านศังกราจารย์ด้วยใจที่เปี่ยมสุข:

    จิตที่รู้สึก มิใช่สติปัญญา มิใช่อัตตา ข้าคือฟ้า หาใช่ดิน หาใช่โลหะ ข้าคือพระองค์ ข้าคือพระองค์ พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์

    ข้าคือพระองค์! ข้าไร้เกิด ไร้ดับ ไร้ชั้นวรรณะ ไร้ทั้งบิดร ไร้ทั้งมารดา ข้าคือพระองค์ ข้าคือพระองค์ พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์

    ข้าคือพระองค์! ข้าพ้นแล้วซึ่งความเพ้อฝัน ไร้รูปแลร่าง ซึมซ่านอยู่ทั่วทุกองคาพยพของสรรพชีวิต

    มิคิดหวาดหวั่นต่อพันธนาการ ด้วยข้าเป็นอิสระ อิสระชั่วกาล ข้าคือพระองค์ ข้าคือพระองค์ พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์

    ข้าคือพระองค์!

    นิกายสวามีมาสู่โลกตะวันตกอย่างไร

    ก่อนปรมหังสา โยคานันทะเดินทางมาอเมริกาเมื่อปี 1920 ได้มีสวามีนักบุกเบิกจากอินเดียเดินทางสู่โลกตะวันตกช่วงสั้นๆ บรรยายเกี่ยวกับโยคะและเวทานตะ เช่น สวามีรามธีรฐะ กับ สวามีวิเวกนันทะ ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 สวามีวิเวกนันทะกับภราดาแห่งสมาคมรามกฤษณะ-เวทานตะได้บวชชาวตะวันตกจำนวนหนึ่งให้ใช้ชีวิตสันยาสตามความประสงค์ของปัจเจกเหล่านั้น แต่เป็นปรมหังสาจีที่ในศตวรรษที่ 20 ได้จัดระบบฝึกฝนชีวิตนักบวช การสืบทอด และวิธีถ่ายทอดการสอนในอารามนิกายสวามี อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

    Sannyas Yogananda And Janakananda
    ปรมหังสา โยคานันทะยกมือประสาทพรแก่ เจมส์ เจ. ลินน์ ศิษย์รักหลังจากท่านให้สันยาสและนามนักบวช ราชรษิชนกนันทะ, สำนักงานใหญ่นานาชาติของเอสอาร์เอฟ, ลอสแอนเจลีส, 25 สิงหาคม 1951

    จริงๆ แล้ว พันธกิจพิเศษของปรมหังสาจีที่แผ่เผยกริยาโยคสมาธิ ศาสตร์เก่าแก่ในโลกตะวันตกและทั่วโลกนั้นสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับประวัติศาสตร์การขยายตัวของนิกายสวามีในอเมริกา พันธกิจกริยาโยคะของโยคานันทะสืบสาวรากเหง้าไปถึงการที่ศรียุกเตศวร คุรุของท่าน พบกับมหาวตารบาบาจี ผู้ก่อตั้งสายธรรมกริยาโยคะในยุคใหม่ เริ่มด้วยการที่บาบาจีบัญชาให้ลาหิริ มหัสยะ บุรุษผู้ครองเรือนสอนกริยาศาสตร์ซึ่งสูญหายไปหลายศตวรรษได้อย่างเปิดเผย ศรียุกเตศวรก็เช่นเดียวกับลาหิริ มหัสยะ คุรุของท่าน เป็นผู้ครองเรือน (แต่เป็นพ่อหม้าย) จนท่านพบกับมหาวตารบาบาจีที่กุมภเมลา ในอัลลาหะบัด เมื่อปี 1894 ศรียุกเตศวรได้เล่าถึงการพบกันครั้งนั้นดังนี้: “ท่านสวามี ยินดีต้อนรับ” บาบาจีกล่าวต้อนรับอย่างยินดี

    “ท่านขอรับ” ข้าพเจ้าตอบอย่างหนักแน่น “กระผมไม่ได้เป็นสวามี”

    “บุลลใดก็ตามที่เบื้องบนกำหนดให้เราเรียกหาเป็นสวามี ย่อมไม่มีวันแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปได้” ท่านโยคีพูดแค่นี้ แต่มีความจริงอันหนักแน่นแฝงอยู่ในถ้อยคำเหล่านั้น ข้าพเจ้ารับรู้ได้ทันทีว่าท่านประสาทพรอันประเสริฐให้แก่จิตวิญญาณ

    Sannyas Sri Daya Mata And Shyamananda
    ศรีทยมาตาห่มจีวรสีฝาดของสันยาสีให้แก่สวามีศยามานันทะ, ศูนย์แม่, 1970

    บาบาจีพูดกับสวามีคนใหม่ว่า “ในอีกหลายปีข้างหน้า เราจะส่งศิษย์ผู้หนึ่งไปให้เจ้าสอนสั่งเพื่อที่วันข้างหน้าเขาจะได้นำศาสตร์แห่งโยคะไปเผยแพร่ยังโลกตะวันตก” แน่นอน ศิษย์คนนั้นคือปรมหังสา โยคานันทะ ซึ่งต่อมามหาวตารได้ย้ำเรื่องนี้กับปรมหังสาจีเอง การให้ศรียุกเตศวรเป็นสวามีก่อนส่งโยคานันทะไปรับการฝึกฝน เท่ากับบาบาจีให้ความมั่นใจว่าการถ่ายทอดกริยาโยคะในโลกตะวันตกและทั่วโลกจะสำเร็จโดยผู้สละละตามธรรมเนียมนักบวชโบราณของอินเดีย

    หลังจากก่อตั้งสำนักงานใหญ่นานาชาติของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ที่ลอสแอนเจลีสเมื่อปี 1925 แล้ว ปรมหังสาจีค่อยๆ เริ่มรับฝึกฝนบุรุษและสตรีผู้มาสู่ท่านด้วยความปรารถนาจะอุทิศชีวิตแสวงหาพระเจ้า การมาถึงของศรีทยมาตา ศรีญานมาตา และศิษย์ผู้อุทิศตนคนแรกๆ ทำให้อารามเมานต์วอชิงตันได้กลายเป็นบ้านที่เติบโตอย่างมั่นคงของผู้สละละ ที่ปรมหังสาจีได้ปลูกฝังจิตวิญญาณและอุดมคติของชีวิตนักบวชไว้ ซึ่งท่านได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่างอย่างสมบูรณ์แบบ ท่านคุรุยังได้ให้คำแนะนำเป็นพิเศษแก่ศิษย์ใกล้ชิด – ผู้ที่ท่านไว้วางใจให้รับผิดชอบการงานของท่านในอนาคต – เพื่อการเผยแพร่คำสอนและสืบสานงานทางธรรมและมนุษยธรรมที่ท่านได้ริเริ่มไว้ ให้แพร่หลายไปทั่วโลก ปัจจุบันนี้คำแนะนำและวินัยที่ลึกซึ้ง เช่นเดียวกันกับที่ท่านมอบแก่ผู้อยู่ในอาศรมตอนที่ท่านยังมีชีวิต ได้รับการส่งต่อสู่นักบวชรุ่นใหม่ๆ ทั้งชายหญิง

    โดยผ่านทางปรมหังสา โยคานันทะ นักบวชนิกายสวามีโบราณของอินเดียจึงหยั่งรากลึกในอเมริกา นอกจากการบวชชาวตะวันตกผู้มีคุณสมบัติแล้ว ปรมหังสาจียังได้ปรับประเพณีแต่ดั้งเดิม ด้วยการอนุญาตให้ทั้งหญิงและชายได้ปฏิญาณสันยาสอันศักดิ์สิทธิ์ และอยู่ในตำแหน่งผู้นำฝ่ายจิตวิญญาณได้ ซึ่งไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติในยุคสมัยของท่าน จริงๆ แล้ว ศิษย์เอสอาร์เอฟคนแรกที่ท่านให้ปฏิญาณสวามีเป็นผู้หญิง คือท่านศรีทยมาตา ซึ่งต่อมาได้รับใช้ในตำแหน่งผู้นำฝ่ายจิตวิญญาณของเอสอาร์เอฟ/วายเอสเอสมากว่าครึ่งศตวรรษ

    ในช่วงที่ศรีทยมาตาเป็นประธาน ผู้นำอาวุโสแห่งนิกายสวามีในอินเดีย ท่านศังกราจารย์แห่งปุรี สวามีภราติ กฤษณะ ธีรฐะ – ได้เป็นแขกมาเยือนเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพในช่วงการเยือนอเมริกาสามเดือนในปี 1958 ซึ่งเป็นเหตุการณ์อันเถือเป็นหมุดหมายสำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อินเดีย ที่ศังกราจารย์ (ผู้สืบตำแหน่งจากอทิศังกราจารย์ ผู้จัดระเบียบใหม่นิกายสวามีในศตวรรษที่แปด) ได้เดินทางสู่โลกตะวันตก ท่านศังกราจารย์นับถือศรีทยมาตาอย่างยิ่ง ท่านได้ประสาทพรให้ศรีทยมาตาเผยแพร่นิกายสวามีในอาศรมเอสอาร์เอฟ ที่ปรมหังสา โยคานันทะได้เริ่มไว้ตามบัญชาของบาบาจี เมื่อกลับไปถึงอินเดียท่านได้กล่าวแก่สาธารณชนว่า “ที่เซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ข้าพเจ้าได้พบจิตวิญญาณประเสริฐสุด ผู้รักและรับใช้ ใช่เพียงแต่เทศนาสั่งสอนหลักการ หากแต่ดำเนินชีวิตเช่นนั้น”

    การงานอื่นๆ ของปรมหังสา โยคานันทะ

    นักบวชแห่งเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพยังได้ขยายการงานของปรมหังสาจี ด้วยการใช้ความสามารถรับใช้ในหลายๆ ด้าน – รวมถึง ธรรมสัญจรประจำปี และจัดอบรมทั่วโลก ปาฐกถาในงานประชุมธรรมประจำปี เป็นเจ้าภาพจัดงานสาธารณะ ทำงานสำนักงาน บริหารจัดการอาราม ศูนย์และกลุ่มทั่วโลกของสมาคม ดูแลจัดการการพิมพ์และกระจายหนังสือและแถบบันทึกเสียงของเอสอาร์เอฟ รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่ผู้แสวงหาเกี่ยวกับประเด็นด้านจิตวิญญาณ

    ภราดาชยนันทะเป็นเจ้าภาพต้อนรับสมาชิกอย่างไม่เป็นทางการในช่วงการเข้าเงียบของภูมิภาค
    ซิสเตอร์ชินมายี กับ ซิสเตอร์อมราวตี พูดคุยถึงโครงการของสำนักงานกับนักบวชรุ่นน้อง
    ภราดาอิสตนันทะ ให้คำแนะนำด้านจิตวิญญาณแก่ผู้ภักดี

    “พระเจ้ามาก่อน พระเจ้าตลอดเวลา พระเจ้าเท่านั้น”

    โดย ศรีมฤนลินีมาตา

    บทคัดย่อจากคำปราศรัยของประธานเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ กล่าวแก่นักบวชชายหญิงแห่งเอสอาร์เอฟ

    Mrinalini-Mata-pranam-small.jpg#asset:6618


    ท่านที่รักทั้งหลาย,

    ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพของท่านคุรุผู้ประเสริฐของเราได้เติบโตอย่างรวดเร็ว การงานขยายเข้าสู่ยุคใหม่ บ่อยครั้ง เราระลึกถึงคำพูดของท่านอาจารย์ที่ได้กล่าวไว้เมื่อหลายปีก่อนแก่พวกเราที่อุทิศชีวิตเป็นนักบวช “เมื่อเราละจากร่างกายนี้ องค์กรจะเป็นร่างกายของเรา ท่านทั้งหลายจะเป็นแขนขาและคำพูดของเรา” ชีวิตที่ได้ถวายตัวเช่นนี้เป็นโอกาสดี เป็นพรล้ำเลิศและเป็นอิสระยิ่ง ทุกท่านที่โอบรับสิ่งนี้ไว้อย่างเต็มหัวใจจะเป็นประดุจอณูสว่างไสวของท่านอาจารย์ แต่ละท่านได้ให้คุณูปการอันจำเป็นแก่ส่วนรวม ทำให้องค์กรของท่านคุรุเทพสามารถดำเนินต่อไปด้วยจิตวิญญาณรักพระเจ้าของท่าน

    โลกได้สูญเสียการเห็นมาตรฐานจิตวิญญาณและศีลธรรมกันไปมาก ผู้เลือกวิถีนักบวชคือผู้ที่ตอบรับต่อความปรารถนาและความสามารถแห่งวิญญาณที่จะดำเนินชีวิตเหนือบรรทัดฐานทางวัตถุตามปกติทั่วไป แม้มีคนค่อนข้างน้อยเข้ามาเป็นนักบวช แต่ผู้ที่ดำเนินชีวิตด้วยวินัย ขวนขวายรักษาคุณค่าประเสริฐในสายตาของผู้คนไม่น้อย ผู้คนมักรู้สึกถึงความแตกต่าง ความพิเศษจากความบริสุทธิ์ของชีวิตที่ถวายให้แก่พระเจ้าเท่านั้น การยึดคำปฏิญาณความเรียบง่าย เชื่อฟัง พรหมจรรย์ และความภักดีซื่อตรง ความเพียรในสมาธิ และความถ่อมในการพยายามปรับปรุงตน นำความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงมาให้แก่ผู้ภักดี แม้ในกายเนื้อเล็กๆ ที่เขาอาศัยอยู่ก็จะมีพลังจิตวิญญาณที่ผู้คนรับรู้ได้ คนอื่นจะไม่สามารถพูดได้ว่ามันคืออะไร แต่พวกเราสัมผัสได้จากรัศมีของผู้ภักดีที่ชุบชูชีวิตของพวกเขาและพูดกับเขาถึงพระเจ้า ผู้ภักดีที่มีความถ่อมไม่อวดตัวตน จริงๆ แล้ว เขาอาจไม่รู้ถึงสิ่งนี้ด้วยซ้ำ

    ไม่มีการงานใดยิ่งใหญ่ – ยิ่งใหญ่กว่าความสำเร็จใดที่บุคคลสามารถเข้าถึง ไม่มีชื่อเสียงใดยิ่งใหญ่กว่านี้ในสายตาของนิรันดรภาพ – กว่าการอุทิศตนบนวิถีธรรม ผู้ประสบความสำเร็จ ผู้รับใช้จากวิญญาณ ด้วยการปรับจิตเข้ากับพระเจ้าและเข้ากับคุรุ สามารถเปลี่ยนผู้คนนับพันในโลกอย่างเงียบๆ โดยที่เขาไม่รู้ตัว และวันหนึ่งเมื่ออยู่กับพระเจ้าเขาสามารถมองย้อนและกล่าวว่า “โอ้ พระแม่กับท่านคุรุเทพทำอะไรกับชีวิตน้อยๆ ที่ไร้ความสำคัญนั้น!” การงานของท่านอาจารย์ที่เจริญเติบโตในช่วงหลายๆ ปีมานี้ เป็นเพราะผู้อยู่ในครอบครัวทางธรรมของท่าน – ชุมชนนักบวชตลอดจนศิษย์ผู้ครองเรือนจำนวนมาก – ผู้ได้อุทิศตนดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างตามคำสอนและจิตวิญญาณของท่านคุรุจี

    ท่านอาจารย์เป็นชีวิตและเป็นหัวใจของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ จิตวิญญาณของท่านหยั่งรากหนักแน่นจากชีวิตประจำวันของพวกเราในอาศรมทั้งหลายของท่าน นักบวชชายหญิงของท่านอาจารย์ – โดยพฤติกรรม มารยาท การคิด และสำนึกทั้งหมดทั้งมวล ไม่ว่าทำหน้าที่อยู่ที่ใด – ต้องจดจำไว้เสมอว่า “เราถวายตัวให้แก่อุดมคติ และเกณฑ์ทางธรรมเดียวกับท่านคุรุของเรา: พระเจ้ามาก่อน พระเจ้าตลอดเวลา พระเจ้าเท่านั้น” ผู้ถวายชีวิตอย่างแท้จริงแก่อุดมคตินี้ ย่อมได้รับพรจากคุรุจีตลอดเวลา เหมาะที่จะเป็นเครื่องมือของท่านอาจารย์ในการรับใช้ผู้อื่น เขาสามารถแสดงออกถึงความรักของพระเจ้า ความเข้าใจและการดูแลของพระเจ้า การให้อภัยได้อย่างพระเยซู มีปัญญาแห่งพระกฤษณะ – เขาแสดงออกถึงคุณลักษณะแห่งพระเจ้าทั้งหลายได้อย่างงดงาม เบิกบาน ในชีวิตเขาเอง เราได้รับพร ได้รับโอกาสในอาศรมเหล่านี้ที่ท่านอาจารย์ก่อตั้ง ที่ทำงานใช่แค่เพื่อการหลุดพ้นของตนเอง แต่ได้สืบสานคำสอนของพระเจ้าที่คุรุเทพนำมาปลดปล่อยผู้อื่นและยกวิญญาณของมนุษยชาติ

    Sannyas Nuns Informal Gathering At Mother Center
    การประชุมอย่างไม่เป็นทางการกับนักบวชหญิงที่ศูนย์แม่ มฤนลินีมาตา (นั่งขวาสุด) ย้อนนึกถึงการเป็นศิษย์และได้รับการฝึกฝนจากปรมหังสา โยคานันทะขณะยังอยู่ในวัยต้นๆ

    ชวนเชิญ

    ชายและหญิงโสดผู้เป็นอิสระจากพันธะครอบครัว และปรารถนาอย่างจริงใจที่จะอุทิศตนแสวงหาพระเจ้าและรับใช้พระองค์ในฐานะนักบวชในสังฆะนักบวชแห่งเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ เชิญติดต่อขอข้อมูลที่สำนักงานใหญ่ของเอสอาร์เอฟ