อานันทมาตา (1915-2005)
อานันทมาตาหนึ่งในศิษย์รุ่นแรกที่ใกล้ชิดปรมหังสา โยคานันทะ และเป็นน้องสาวของศรีทยมาตา ประธานท่านก่อนของเอสอาร์เอฟ ท่านละจากรูปกายนี้เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2005 ทั้งๆ ที่อานันทมาตารับใช้ปรมหังสาจีและการงานของท่านอาจารย์มานานหลายทศวรรษ แต่ท่านเลือกที่จะมีบทบาทอยู่ “หลังฉาก” มากกว่าที่จะเป็นครูหรือผู้บรรยายธรรม เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของท่านจึงผ่านการบอกเล่าของผู้อื่น มิใช่เป็นการรำลึกถึงปรมหังสาจีด้วยถ้อยคำของท่านเอง
อานันทมาตาเป็นผู้ภักดีที่ปรมหังสาจีคัดเลือกและฝึกฝนด้วยตัวของท่านเอง เพื่อให้ช่วยวางรากฐานพันธกิจทั่วโลกของท่านอาจารย์ และดำเนินตามพิมพ์เขียวที่ท่านวางไว้เพื่ออนาคต นามเดิมของอานันทมาตาคือ ลูซี เวอร์จิเนีย ไรท์ เกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 1915 นับแต่ได้พบกับท่านคุรุเมื่อปี 1931 และเข้าสู่อาศรมของท่านอาจารย์เมื่อปี 1933 อานันทมาตาได้ถวายชีวิตรับใช้พระเจ้าด้วยรัก จากการซึมซับคำสอนของปรมหังสาจีและดำเนินชีวิตตามคำสอนนั้น ตลอดจนรับใช้การงานของท่านอาจารย์อย่างอุทิศตน ท่านเป็นหนึ่งในศิษย์รุ่นแรกๆ ไม่กี่คนที่ได้รับสันนยาส จากท่านอาจารย์ให้เข้าสู่นิกายสวามีที่มีมาแต่ครั้งโบราณเมื่อปี 1935 ปฏิญาณการเป็นสันยาสีตลอดชีวิต และปรมหังสาจียังแต่งตั้งให้ท่านเป็นกรรมการในคณะกรรมการอำนวยการแห่งเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ/สมาคมโยโคทะสัตสังคะแห่งอินเดีย
พิธีรำลึกถึงอานันทมาตาซึ่งนักบวชชายหญิงแห่งเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพจากทุกศูนย์อาศรมได้มาร่วมประชุม ณ ศูนย์แม่เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2005 โดยมีภราดาวิศวนันทะเป็นผู้ประกอบพิธีคืนสู่สวรรค์ องค์ปาฐกที่สำคัญๆ ได้แก่ ศรีทยมาตา มฤนลินีมาตา ภราดาอนันทโมยี ข้างล่างนี้เป็นคำกล่าวรำลึกถึงชีวิตนักบุญของอานันทมาตาผู้อุทิศชีวิตแด่พระเจ้าและคุรุ
ภราดาอนันทโมยี:
ข้าพเจ้าจำได้ว่าครั้งหนึ่งขณะกำลังเดินกับท่านอาจารย์จากลิฟต์ชั้นล่างสุดจะไปที่รถยนต์ของท่าน อานันทมาซึ่งปกเป็นคนขับรถยนต์ให้ท่าน กำลังรอท่านอยู่ ขณะเราเดินกันไปนั้น ท่านอาจารย์จับมือข้าพเจ้า ยืนนิ่ง พูดว่า “จำไว้เลยนะ เฟย์กับเวอร์จิเนียดำเนินชีวิตอย่างผู้อุทิศตนร้อยเปอร์เซ็นต์ เชื่อฟังร้อยเปอร์เซ็นต์ ซื่อสัตย์ภักดีร้อยเปอร์เซ็นต์ เราอยากให้เธอทำอย่างพวกเขา” ท่านพูดพร้อมกับบีบแขนข้าพเจ้าราวประทับคำพูดนั้นไว้ในตัวข้าพเจ้า ตอนนั้นข้าพเจ้ายังเป็นคนใหม่ในอาศรม
สองสามปีต่อมาท่านอาจารย์พูดย้ำอย่างแทบใช้คำเดิม ตอนนั้นข้าพเจ้าเริ่มเข้าใจท่านอาจารย์ เข้าใจชีวิตจิตวิญญาณและการงานของท่าน ข้าพเจ้าคิดว่า “ท่านอาจารย์เป็นองค์อวตาร เป็นองค์อวตารแห่งพระเจ้า และถ้อยคำเหล่านี้ที่เรียบๆ ง่ายๆ ได้แสดงการยกย่องศิษย์อย่างสูงสุด ไม่มีคำยกย่องใดสูงไปกว่าถ้อยคำของท่านอีกแล้ว”
เรื่องเล็กน้อยอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับอานันทมา: เกิดขึ้นเมื่อราวปี 1951 ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้ฉาบปูนขาวบนผนังห้องน้ำของท่านอาจารย์เสียใหม่ ข้าพเจ้าผสมปูนที่ด้านนอก แล้วหิ้วปูนสองถังจะเข้าในลิฟต์เพื่อขึ้นไปชั้นสาม ขณะหิ้วถังปูนซึ่งหนักพอดูผ่านโถงทางเดิน หูหิ้วของถังบาดมือข้าพเจ้า ข้าพเจ้าวางถังลงเพื่อพักมือ เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นตอนนั้น อานันทมาออกจากห้องทำงาน มารับโทรศัพท์
ข้าพเจ้าไม่ใช่คนที่จะเชื่อภาพนิมิตหรือปรากฏการณ์บางอย่างได้ง่ายๆ ข้าพเจ้าไม่สนใจเรื่องเหล่านี้ แต่พอเห็นอานันทมาหยิบโทรศัพท์ ข้าพเจ้าแปลกใจเมื่อเห็นแสงรอบตัวท่าน – แสงนั้นสว่างขึ้นเรื่อยๆ ข้าพเจ้าคิดว่า “เกิดอะไรขึ้นนี่” แล้วข้าพเจ้าก็เห็นรูปร่างของอานันทมาเปลี่ยนไป เธอกลายเป็นทิพย์บุคคลที่งามล้ำอย่างเหลือเชื่อ ข้าพเจ้าไม่เชื่อสิ่งที่เห็น แต่มันไม่ใช่วูบเดียว เป็นอย่างนั้นอยู่หลายนาที แล้วแสงก็ค่อยๆ เลือนไป ร่างนั้นกลายเป็นอานันทมาตา ท่านแขวนโทรศัพท์ กลับเข้าไปในห้องทำงาน
หลายปีหลังจากนั้น ข้าพเจ้าอ่านตำนานเกี่ยวกับภควานกฤษณะซึ่งกล่าวว่า เมื่อพระเจ้าอวตารมาสู่โลก จะมีทิพย์ชีวินอาสามากับองค์อวตาร และกล่าวกันว่ามหาฤษีมุนีในอดีตอวตารมาเป็นสหายรับใช้พระกฤษณะในหมู่โคปาลและโคปีที่เล่นกับกุมารกฤษณะขณะท่านเติบโตที่พฤนทาพัน ข้าพเจ้ามั่นใจว่าศิษย์เอกหลายๆ ท่านของท่านอาจารย์ อย่างเช่น ทยมาตา อานันทมาตา และท่านอื่นๆ มาสู่โลกนี้ใช่แค่มาชดใช้กรรมของตน แต่มาเพื่อรับใช้พระเจ้าในช่วงการอวตารของท่านอาจารย์
อานันทมาตารับใช้ด้วยศรัทธามาตลอดหลายปี ทำงานอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย – บ่อยๆ ที่ทำทั้งกลางวันกลางคืน และเราทุกคนรู้ว่าบางครั้งท่านเข้มงวดอย่างยิ่ง! แต่ในช่วงปลายชีวิต เมื่อท่านป่วยและทำงานไม่ได้อีกต่อไป – เมื่อจิตของท่านไม่ฝักใฝ่ไม่กังวลเกี่ยวกับปัญหาขององค์กร – บุคลิกภาคใหม่ของท่านได้สำแดง: อ่อนโยน น่ารัก ทุกครั้งที่พบกัน ท่านกุมมือข้าพเจ้าทั้งสองข้าง – ไม่พูดอะไร – ให้แต่รัก รักเท่านั้น
ต่อมาเมื่อข้าพเจ้าได้ข่าวว่าสุขภาพท่านทรุดลง ข้าพเจ้ามากล่าวลาท่านที่ห้องพัก ท่านพูดไม่ได้อีกแล้ว แต่พูดด้วยสายตาและมือ ท่านกุมมือทั้งสองข้างของข้าพเจ้า มองข้าพเจ้าด้วยรัก รักอย่างล้ำล้น นี่เป็นประสบการณ์ที่เหลือเชื่อ ด้วยรู้ว่าท่านรักท่านอาจารย์มากเพียงใด ข้าพเจ้าจึงพูดกับท่านว่า “ท่านอาจารย์รอท่านอยู่” แล้วปฏิกิริยาที่เกิดคือข้าพเจ้าสัมผัสได้ถึงคลื่นรักและความเกษมมหาศาล – ราวท่านกำลังกล่าวว่า “ฉันจะได้กลับไปอยู่กับท่านอาจารย์!” ข้าพเจ้าอธิบายความรู้สึกนั้นไม่ได้ แต่รู้สึกท่วมท้นด้วยความรักและความเกษม ข้าพเจ้าคิดว่า “แบบอย่างที่ดีงาม หลังจากรับใช้มาตลอดชีวิต อุทิศตนแด่พระเจ้าและคุรุ ตอนนี้หมดหน้าที่ ท่านพูดได้ว่า ‘ฉันกำลังกลับบ้าน’” และข้าพเจ้าคิดว่า “ข้าพเจ้าอยากจะได้ไปด้วย!”
ความทรงจำของข้าพเจ้าถึงอานันทมาตาเป็นอย่างนี้: ศิษย์ผู้ยิ่งใหญ่ ทิพย์วิญญาณผู้มาสู่โลกนี้กับคุรุและรับใช้ท่าน นี่คือภาพที่ข้าพเจ้ามี ที่จะจดจำไปตลอดชีวิต ตามที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงการรักและถวายตนต่อพระเจ้า ต่อคุรุ นี่คือแบบอย่างที่อานันทมาตาได้ให้แก่เรา
มฤนลินีมาตา:
เป็นเวลาหกสิบปีที่ข้าพเจ้าได้รับพรให้อยู่กับท่านที่รักคือมากับอานันทมาตา เฟย์กับเวอร์จิเนีย ตามที่ท่านอาจารย์เคยกล่าวถึงท่านทั้งสองในสมัยก่อนว่าเป็น “ถั่วสองเม็ดในฝักเดียวกัน” ท่านแทบนึกไม่ออกว่าถ้าขาดท่านใดท่านหนึ่งแล้วจะเป็นอย่างไร
มีผู้แนะนำข้าพเจ้าให้รู้จักกับอานันทมาตาครั้งแรกก่อนข้าพเจ้าเข้ามาอยู่ในอาศรม ตอนข้าพเจ้ายังเป็นนักเรียนมัธยม คุรุเทวะเคยชวนข้าพเจ้าให้มาที่อาศรมเอ็นซินิตัสในช่วงสุดสัปดาห์ ครั้งแรกที่มาถึงข้าพเจ้าได้ช่วยทำความสะอาดอาศรมในวันเสาร์ ปัดฝุ่นเช็ดโต๊ะจำหลักภาพช้างอันละเอียดซับซ้อนในห้องรับแขก ท่านอาจารย์เข้ามาในโถง ยืนมองอยู่ครู่หนึ่ง แล้วท่านพูดกับข้าพเจ้าว่า “ทำให้ดีนะ เวอร์จิเนียดูละเอียดเชียว!”
ข้าพเจ้ารู้จักมากับอานันทมาที่พิธีธรรม ณ โบสถ์ที่ซานดิเอโกหลายครั้ง ตอนครอบครัวเราไปฟังท่านคุรุเทวะบรรยายวันอาทิตย์ ทันทีที่ท่านอาจารย์ขึ้นไปที่ธรรมาสน์พร้อมจะบรรยาย ศิษย์ทั้งสองท่านของท่านลงบันไดแล้วเข้าไปในโบสถ์ เราคอยมองคนทั้งคู่ ผู้ภักดีวัยเยาว์คนหนึ่งพูดว่า “รู้มั้ย พวกเธอลอยมา ไม่ได้เดินลงบันได!” ข้าพเจ้าเห็นด้วย เราคิดว่าคนที่อยู่รอบตัวท่านอาจารย์คือทูตสวรรค์ อย่างที่ภราดาอานันทโมยี ได้พูดไปแล้ว
ภาพจำในใจของข้าพเจ้าเป็นอย่างนี้ ตอนทำความสะอาดโต๊ะข้าพเจ้าจึงทำดีที่สุดเพื่อให้ทูตสวรรค์พอใจ! และจริงดังว่า พอคุรุจีออกไปไม่นาน มาตาจี (1) เข้ามาในห้องรับแขก ท่านเดินตรงมาที่ข้าพเจ้ากำลังทำงาน หยุดยืนอยู่ครู่หนึ่ง มองข้าพเจ้าเช็ดฝุ่นแม้ในร่องเล็กที่สุด ท่านยกมือแตะศีรษะข้าพเจ้าพูดว่า “ดีมาก หนูจ๋า ดีมาก!” โอ้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าสอบผ่าน!
นี่แหละอานันทมา ท่านละเอียดลออ สำหรับท่านแล้วทุกสิ่งที่ทำคือการรับใช้พระเจ้าผ่านการรับใช้คุรุของท่าน ตอนข้าพเจ้าเข้ามาในอาศรมนั้น ท่านรับผิดชอบดูแลที่พักของท่านคุรุเทวะ และทุกสิ่งที่องค์อวตารต้องการในการมีชีวิตและทำงานอยู่ในโลกนี้ ท่านรับผิดชอบงานอย่างเต็มที่ ถี่ถ้วน อย่างเงียบๆ บางครั้งท่านปรุงอาหารให้ท่านอาจารย์ และถ้ามีแขกพิเศษเป็นชาวอินเดีย ท่านอาจารย์จะให้ท่านเป็นผู้ปรุงราซากุลลาขนมหวานของอินเดีย ท่านอาจารย์พูดบ่อยๆ ว่า “ไม่มีใครในอินเดียทำได้ดีอย่างนี้!”
ทั้งชีวิตของท่านคือคุรุภักดี (ความภักดีต่อพระเจ้าในตัวคุรุ) ด้วยการรับใช้ท่านอาจารย์ หลังจากท่านคุรุเทวะละสังขาร คุรุภักดีนี้ไม่ได้สิ้นสุด ข้าพเจ้าบอกไม่ได้ว่าท่านกระทำด้วยสำนึก หรือกระทำตามธรรมชาติของท่าน เพราะท่านคุรุเทวะเคยพูดกับเราว่า “เมื่อข้าพเจ้าไม่อยู่ในร่างกายนี้แล้ว องค์กรนี้จะเป็นร่างกายของข้าพเจ้า ท่านทั้งหลายจงรับใช้องค์กรนี้ดุจเดียวกับที่ได้ช่วยข้าพเจ้า และรับใช้รูปนี้ตอนที่ข้าพเจ้ายังอยู่” อานันทมารับใช้มาเรื่อยๆ อย่างไม่ว่างเว้น รับหน้าที่มากขึ้นในงานหลายๆ ด้าน – ด้วยความเอาใจใส่และขยันขันแข็งเหมือนเดิม เมื่อทยมาต้องแบกความรับผิดชอบต่อสมาคมของท่านอาจารย์ อานันทมาก็อยู่ตรงนั้น - อย่างที่เคยอยู่กับท่านคุรุเทวะ – ช่วยทุกอย่างไม่ว่างานเล็กงานใหญ่
ท่านทั้งหลายสามารถเตรียมรายงานหรือข้อเสนอเกี่ยวกับงานบางอย่าง คิดว่าท่านรู้ทุกประเด็นที่จำเป็นต้องชี้แจง เมื่อรายงานนี้ไปถึงโต๊ะของอานันทมา ท่านจะเพิ่มเติมได้อีกสิบประเด็น! แต่นั่นคือความภักดีของท่าน ดังที่คุรุจีเคยพูดกับพวกเราว่า “สิ่งใดที่ควรทำ ต้องทำให้ดี” ท่านจำคำพูดนี้ใส่ใจ ทุกสิ่งที่ท่านทำ ท่านรับผิดชอบเต็มที่พันเปอร์เซ็นต์ คุรุจีสอนพวกเราทุกคนให้ทำอย่างนี้ และอานันทมาทำได้อย่างเยี่ยมยอด
ตัวอย่างเช่น ท่านใช้จิตสำนึกนี้ดูแลบำรุงอาคารเหล่านี้ บ้านของพระเจ้าเหล่านี้ที่ท่านคุรุเทวะเคยพำนักและเริ่มการงานอันประเสริฐของท่าน ทั้งที่เมานต์วอชิงตัน อาศรมเอนซินิตัส อารามที่ฮอลลีวูด และเลกไชรน์ – สถานที่เหล่านี้ได้รับการจัดการให้งดงามตามการควบคุมของท่าน และใช่แค่ว่าสถานที่เหล่านี้มี “อาคารที่สวยงามจึงต้องดูแลให้ดี” แต่เป็นเพราะทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของท่านคุรุเทวะ ท่านเอาใจใส่ปกป้องดูแลแม้แต่พุ่มไม้และต้นไม้เล็กๆในสวนที่ท่านอาจารย์รักและได้ปลูกไว้ ท่านพยายามอย่างมุ่งมั่นไม่รู้เหน็ดเหนื่อยเพื่อ “รักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ตราบเท่าที่ธรรมชาติยอมให้อยู่ได้” เพราะทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของท่านคุรุเทวะ
พูดกันบ่อยๆ ว่าอานันทมาอยู่เบื้องหลังส่วนใหญ่ จริงแท้ ท่านอยู่อย่างเงียบๆ แต่ในปี 1981 เมื่อมีงานบริหารหลายด้านต้องไปจัดการที่อินเดีย และมาไปไม่ได้ ท่านจึงส่งอานันทมากับฉันไปที่นั่น แต่กลายเป็นว่าอานันทมาป่วยระหว่างการเยือนครั้งนั้น ผู้อำนวยการวายเอสเอสเป็นห่วงมาก จึงตัดสินใจให้ท่านไปพักที่เนอร์สซิ่งโฮมที่กัลกัตตาสักระยะ ให้ท่านได้พักและตรวจสุขภาพ เราเก็บเรื่องนี้ไว้เงียบๆ เพื่อให้ท่านได้พักและอยู่เป็นส่วนตัว
ทุกบ่ายหลังจากสัตสังคะและการประชุมที่อาศรม ข้าพเจ้าไปเยี่ยมท่านที่เนอร์สซิ่งโฮม วันหนึ่ง สมาชิกใกล้ชิดที่น่ารักรู้ว่าท่านพักอยู่ที่ไหน ตอนข้าพเจ้าเข้าไปในห้องเห็นกลุ่มผู้ภักดีรายรอบเตียงของท่าน ท่านกำลังนั่งให้สัตสังคะที่สุดไพเราะงดงามแก่พวกเขา เขาเหล่านี้ขอคำแนะนำให้ท่านช่วยเกี่ยวกับปัญหาทางธรรม และท่านได้ให้คำแนะนำสุดอัศจรรย์ ข้าพเจ้ายืนฟังอยู่ที่ประตูเกือบหนึ่งชั่วโมง ภาพนั้นงดงามนัก ข้าพเจ้านึกในใจ “ญาณปัญญาทั้งหลาย ความรักมีอยู่ในตัวท่าน – หลั่งเทออกมาจากตัวท่าน!” จากนั้นข้าพเจ้าพูดว่า “ดีจัง อานันทมา ท่านช่วยงานสัตสังคะได้นี่คะ” สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้น! แต่วันนั้นข้าพเจ้าได้เห็นสิ่งที่อยู่ในวิญญาณนั้น ท่านรับรักของท่านคุรุเทวะและรักของพระแม่ไว้มากเหลือเกิน และนี่อาจเป็นสัตสังคะครั้งเดียวที่ท่านได้มอบให้ในชีวิตนี้!
การดำเนินชีวิตที่ดีในโลกนี้ได้ให้บางสิ่งแก่เราทุกคน และนี่เป็นความจริงกับการดำเนินชีวิตของอานันทมาที่รักของเรา ผู้เป็นแบบอย่างของคุรุภักดี และให้เกียรติแก่ท่าน – ไม่ใช่ถึงท่านในอดีต แต่ตลอดมาถึงวันนี้ ท่านจะเป็นส่วนสำคัญในการงานของท่านคุรุเทวะตลอดไป – นี่เป็นสิ่งที่เราพึงจดจำและนำมาเป็นแบบอย่าง: คุรุภักดีในรูปแบบสูงสุดคือการรับใช้การงานของท่านอาจารย์อย่างไม่คำนึงถึงตัวตน ท่านทั้งหลายได้ฟังหลายเรื่องราวว่าท่านอุทิศเวลาและแรงงานอย่างไม่แหนหวง ทั้งงานเล็กงานใหญ่ ความรับผิดชอบ ปัญหา หรือหน้าที่ใดๆ ขอให้ทุกสิ่งเชื่อมโยงถึงพระเจ้าและคุรุ – อานันทมาดำเนินชีวิตของท่านเยี่ยงนี้ ไม่ว่าท่านทำงานบริหารหรือล้างและเช็ดรถยนต์ของท่านคุรุเทวะอย่างเงียบๆ ก่อนท่านเดินทางไปบรรยายที่โบสถ์ อานันทมาทำด้วยความเอาใจใส่ภักดีดุจเดียวกัน
เราแต่ละคนจะคิดถึงท่านตามวิธีของเราเอง สำหรับข้าพเจ้าท่านคือพี่สาว เป็นศิษย์ผู้ทรงเกียรติแทบเท้าท่านคุรุเทวะ เป็นที่ปรึกษาทางธรรม และเป็นแบบอย่าง ท่านจะอยู่ในใจและในวิญญาณของข้าพเจ้าตลอดไป อย่างที่ข้าพเจ้ารู้ว่าสิ่งนี้ไม่ได้เริ่มที่ชาตินี้ ท่านอาจารย์บอกพวกเราที่อยู่รอบตัวท่านว่า ในอดีตเราเคยอยู่ร่วมกันมาก่อนแล้วหลายภพชาติ เรายังผูกพันกันต่อไป ความตายไม่อาจพราก ไม่อาจพรากพวกเราทุกคน ทุกท่านย่อมรู้ว่าเมื่อเรารับใช้อย่างดี ตามวิถีที่เป็นแบบอย่าง ท่านคือทูตสวรรค์ของท่านอาจารย์ อย่างที่อานันทมาและทยมาและเจฬะท่านอื่นๆ ซึ่งท่านคุรุเทวะได้เคยกล่าวว่า “พระเจ้าทรงส่งทูตสวรรค์มาให้ข้าพเจ้า” แล้วท่านมองพวกเราแต่ละคนพูดว่า “ตอนนี้เธอทั้งหลายต้องทำตัวให้เหมือนทูตสวรรค์!”
ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้พูดเล็กๆ น้อยๆ ถึงความรักและความชื่นชมดวงวิญญาณที่ข้าพเจ้ารักอย่างยิ่ง วิญญาณประเสริฐในสายพระเนตรของพระเจ้าและสายตาของท่านคุรุ และในทิพยไมตรีของเราทุกคน ชัยคุรุ!
ศรีทยมาตา:
ท่านที่รักทั้งหลาย ข้าพเจ้าย้อนนึกไปถึงเมื่อหลายปีก่อน ในวัยเยาว์เมื่อเราอยู่แทบเท้าคุณแม่ของเรา อานันทมากับข้าพเจ้าอยู่ด้วยกันมาแปดสิบเก้าปี ข้าพเจ้าอายุมากกว่าเธอเล็กน้อย – เราจูงมือกันไปโรงเรียน และเธอเดินตามรอยของทยมาตาตลอดมา
ข้าพเจ้าไม่เคยนึกฝันว่าเธอจะถูกส่งมาอยู่กับเราที่นี่ เราได้ยินคุรุจีบรรยายธรรมครั้งแรกที่ซอล์ทเลกท่ามกลางผู้ฟังจำนวนมาก แม่พาเราไปฟังการบรรยายของท่าน ขณะยืนอยู่ที่ธรณีประตูห้องประชุมใหญ่นั้น เราเห็นท่านยืนอยู่ไกลๆ เราทุกคนรู้สึกสั่นไหวในวิญญาณ หลังจากนั้นไม่กี่เดือนข้าพเจ้าจึงมีโอกาสมาที่เมานท์วอชิงตัน ข้าพเจ้าอายุสิบเจ็ดปี จำศานติเบิกบานในใจได้ไม่เคยลืม ตอนนั้นอานันทมาสิบห้าปี เธออยากจะติดตามมาด้วย และเธอได้เข้ามาอยู่ในอาศรมเมื่อปี 1933 พร้อมกับริชาร์ด (2) น้องชายที่รักของข้าพเจ้า เมื่อหลายปีผ่านไปลูกๆ ของแม่ก็ได้มาอยู่รายรอบท่านคุรุจี: ดิ๊ก อานันทมา น้องชาย และตัวข้าพเจ้าเอง ความทรงจำที่แสนวิเศษ! วันเก่าๆ ที่เราได้รับพร เพราะเราได้แรงดลใจจากแบบอย่างที่ท่านอาจารย์ได้กระทำ
วินัยของท่านอาจารย์เข้มงวดมาก แต่อานันทมาปฏิบัติตามอย่างอุทิศศรัทธาหมดหัวใจ และเมื่อข้าพเจ้าได้เป็นประธาน เธอได้ช่วยงานในหน้าที่ของข้าพเจ้าทุกอย่างมาตลอดหลายปี เมื่อข้าพเจ้าเดินทางไปยุโรป อินเดีย เม็กซิโก ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ เธออยู่ด้วยคอยช่วยข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็นค่าของความรักนี้ เห็นค่าของไมตรีที่เธอมอบให้
ข้าพเจ้าขออนุญาตอ่านความคิดของเธอในไดอารีที่เธอบันทึกไว้เมื่อวันที่ 11 เมษายน 1950: “แปลกใจจริงๆ! ท่านอาจารย์บอกฉันเมื่อตอนค่ำ ว่าท่านแต่งตั้งให้ฉันเป็นกรรมการในคณะกรรมการอำนวยการ ฉันเรียนท่านว่าฉันไม่คาดหมายว่าจะได้รับเกียรตินั้น เพราะเข้าใจว่าคนในครอบครัวเดียวกันคนเดียวเท่านั้นที่จะอยู่ในตำแหน่งนี้ และเฟย์เป็นคนที่เหมาะสม แต่ท่านตอบว่าท่านรู้สึกว่าไม่ถูกต้องถ้าฉันไม่อยู่ในคณะกรรมการ และเมื่อท่านพบกับราชรษิ ท่านแต่งตั้งฉัน...ฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับเลือก แต่ฉันไม่ตื่นเต้น จริงๆ นะ สิ่งเหล่านี้ไม่มีความหมายสำหรับฉันเลย
“ท่านอาจารย์คิดอย่างลึกซึ้ง สัจจะอัศจรรย์หลายอย่างสำแดงผ่านตัวท่าน: เราอยู่ในโลกฝันแห่งพระเจ้าทำไมและจะไปที่ไหน
ท่านแสดงให้เห็นชัดเจนเกี่ยวกับชีวิต เราทุกคนมาที่นี่เพื่อแสวงหาพระเจ้าและได้คำตอบว่าทำไมพระองค์จึงทรงสร้างเรา”
จากนั้นเธอพูดต่อไปอีกหน่อยว่า “ท่านอาจารย์สนทนากับศิษย์บางคน ระหว่างพูดคุยกันท่านกล่าวว่า ‘เราผ่านเข้ามาในชีวิตของเธอทุกคน นักบุญกล่าวเสมอว่า ความภักดีเข้าถึงพระเจ้าก่อนสิ่งอื่นใด จงแสวงหาผู้ที่เต็มใจ’ ฉันเป็นหนึ่งในผู้ที่เต็มใจ ฉันแสวงหาพระเจ้าด้วยศรัทธา” ความคิดนี้แสดงชัดเจนถึงวิธีที่มาตาจีดำเนินชีวิต
วันนี้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์สำหรับข้าพเจ้า แต่ก็เป็นวันที่เศร้าด้วย เพราะข้าพเจ้าจะคิดถึงน้องสาวและเพื่อนที่รักมาตลอดแปดสิบเก้าปี แต่ข้าพเจ้าจะเดินหน้าต่อไป ไม่วางมือ! ข้าพเจ้าซาบซึ้งใจที่ท่านทั้งหลายกล่าวถึงเธอ ข้าพเจ้าน้ำตาไหล ขอพระเจ้าอวยพระพรทุกท่าน และข้าพเจ้าขอจากท่านเพียงอย่างเดียว: ขอให้โอกาสนี้เปลี่ยนแปลงเรา! แบบอย่างของชีวิตนักบุญทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงผู้อื่น ถามตัวท่านเอง ฉันรักเป็นมั้ย เมตตาหรือไม่ ฉันมีศานติหรือเปล่า รักและกรุณาฉายแสงจากตัวฉันหรือไม่ นั่นคือสิ่งที่ท่านอาจารย์ และผู้ที่เดินทางล่วงหน้าไปก่อนได้สอนเรา ทั้งท่านราชรษิ ญาณมาตา ทุรคามา ดร.ลูอิส และท่านอื่นๆ และอานันทมาที่รักของเรา ณ ตอนนี้ อย่าจิตใจคับแคบ – คิดเสมอว่า “ฉันจะรับใช้อะไรได้บ้าง” ความสุขประเสริฐที่เธอรู้ ความสุขประเสริฐที่เราทุกคนรู้ คือการรับใช้อย่างไม่คิดถึงตัวตน – ไม่เคยคิดถึง ฉัน-ฉัน-ฉัน ดังที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่า “เมื่อ‘ฉัน’ตัวนี้ตาย ฉันจะรู้ว่าฉันคือใคร” นี่แหละมาตาจี เธอไม่เคยคิดถึงตนก่อน เธอรับใช้ท่านอาจารย์ตลอดเวลา ดูแลทุกสิ่ง รับใช้การงานของท่าน และรับใช้ทยมาตาพี่สาวของเธอด้วยรักที่อ่อนโยน
ขอบคุณสำหรับคำอุทิศงดงามที่ท่านทั้งหลายได้มอบให้แก่เธอ ขอพระเจ้าอวยพระพรทุกท่าน
[1] ขณะปรมหังสาจียังมีชีวิต ท่านมักเรียกอานันทมาตาว่า “มาตาจี” คำสันสกฤตแปลว่า “แม่ที่เคารพ”
[2] ซี. ริชาร์ด ไรต์ รับใช้ปรมหังสา โยคานันทะในฐานะผู้ช่วยช่วงที่ท่านเดินทางไปเยือนอินเดียระหว่างปี 1935-36 ดังที่พรรณนาไว้ใน อัตชีวประวัติของโยคี