หนังสือคลาสสิกด้านวิถีธรรมที่ไม่เสื่อมคลาย

หนังสือเล่มนี้จะเปลี่ยนชีวิตคนนับล้านๆ คน และจะเป็นผู้ส่งสารแทนตัวข้าพเจ้ายามที่ข้าพเจ้าจากโลกนี้ไปแล้ว
ปรมหังสา โยคานันทะ
ปี 2021 เป็นวาระครบรอบ 75 ปีของหนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี ของท่านปรมหังสา โยคานันทะ ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือคลาสสิกด้านวิถีธรรมที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดของโลก
เป็นเรื่องราวชีวิตของท่านปรมหังสา โยคานันทะ—ท่านมักได้รับการขนานนามว่า “บิดาแห่งโยคะในโลกตะวันตก”— หนังสือเล่มนี้อยู่ในใจของคนเป็นล้านทั่วโลก มีการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 50 ภาษา และทำหน้าที่ดั่งทูตแห่งศาสตร์โยคะโบราณของอินเดีย แนะนำให้ผู้อ่านจำนวนนับไม่ถ้วนให้รู้จักกับวิธีเข้าถึงการตระหนักรู้ในพระเจ้า อันเป็นสิ่งที่อินเดียได้ให้กับอารยธรรมโลกอย่างไม่เหมือนใครและยืนยงคงอยู่จนปัจจุบัน
หนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานชิ้นเอกตั้งแต่การตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1946 และในปี 1999 ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน “100 หนังสือทางธรรมที่ดีที่สุดของศตวรรษ” เรื่องราวชีวิตของความยิ่งใหญ่อันแน่ชัด ยังคงประสบความสำเร็จในการเผยความรู้ด้านวิถีธรรมอันนำไปสู่อิสรภาพให้กับผู้คนตลอดมา ซึ่งก่อนหน้านี้คนจำนวนน้อยนิดเท่านั้นที่เข้าถึงความรู้นี้
สำรวจหนังสือ:
เสน่ห์ดึงดูดใจที่ไม่เสื่อมคลายและเป็นสากล
“ข้าพเจ้าซาบซึ้งยิ่งนัก” ท่านศรีโยคานันทะเขียนไว้ในหมายเหตุผู้ประพันธ์ฉบับตีพิมพ์ปี 1951 “ที่ได้รับจดหมายจากผู้อ่านหลายพันท่าน ข้อคิดเห็นของท่านเหล่านี้ รวมไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่ามีการนำหนังสือเล่มนี้ไปแปลเป็นภาษาต่างๆ หลายภาษา ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความเชื่อมั่นว่าโลกตะวันตกคงจะได้พบคำตอบที่แน่ชัดต่อคำถามมากมายที่มีจากเนื้อความในหนังสือเล่มนี้ ‘ศาสตร์แห่งโยคะมีคุณค่าพอที่จะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนยุคปัจจุบันหรือไม่?’”
หลายปีที่ผ่านมา “ผู้อ่านเรือนพันเรือนหมื่น” ได้กลายมาเป็นเรือนล้าน และเสน่ห์ดึงดูดใจอันเป็นสากลและไม่มีวันเสื่อมคลายของ อัตชีวประวัติของโยคี นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นับแต่การพิมพ์ครั้งแรก เวลาก็ผ่านไปถึง 75 ปีแล้ว แต่หนังสือเล่มนี้ยังคงเป็นหนังสือขายดีในหมวดหนังสือแห่งวิถีธรรมและหมวดหนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนอยู่เช่นเดิม—นับเป็นปรากฏการณ์ที่หาได้ยากยิ่ง ! มีการแปลหลายภาษา ปัจจุบัน สถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยหลายแห่งในโลกจึงได้นำหนังสือเล่มนี้ไปใช้ในการเรียนการสอนวิชาศาสนาและปรัชญาตะวันออก ไล่เรื่อยไปถึงวิชาวรรณคดีอังกฤษ จิตวิทยา สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ และกระทั่งวิชาบริหารธุรกิจ ไม่ว่าจะโดยมาตรฐานใดๆ ก็ตาม อัตชีวประวัติของโยคี มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการแนะนำศาสตร์แห่งโยคะให้กับโลกสมัยใหม่
“ท่านปรมหังสา โยคานันทะ ได้นำเอาหลักทางวิถีธรรมเข้ามาสู่กระแสสังคม ดุจเดียวกับท่านคานธี”
“บางที จุดเด่นของหนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนนับล้าน ๆ คนบนโลกนี้” จากบทความหนึ่งในนิตยสารด้านอภิปรัชญา New Frontier
(ฉบับเดือนตุลาคม ปี 1986) “อาจจะอยู่ตรงที่ท่าน ปรมหังสา โยคานันทะ ได้นำเอาหลักทางธรรมเข้ามาสู่กระแสสังคมดุจเดียวกับท่านคานธี และถ้าจะกล่าวว่าท่านโยคานันทะมีส่วนอย่างมากในการผลักดันให้คำว่า ‘โยคะ’ เข้ามามีตำแหน่งแห่งที่ในคลังศัพท์ของเรายิ่งกว่าผู้ใด ก็คงจะไม่ผิดนัก”
“อาจกล่าวได้ว่าท่านโยคานันทะเป็นบิดาแห่งโยคะในโลกตะวันตก....”
“ดร. เดวิด ฟรอลีย์ นักวิชาการที่ได้รับความเคารพและผู้อำนวยการสถาบันพระเวทศึกษาแห่งอเมริกา ได้เขียนเอาไว้ในนิตยสาร Yoga International (ฉบับเดือนตุลาคม/พฤศจิกายน ปี 1996) ซึ่งตีพิมพ์ทุกสองเดือนว่า “อาจกล่าวได้ว่าท่านโยคานันทะเป็นบิดาแห่งโยคะในโลกตะวันตก ไม่ใช่แค่การฝึกโยคะเพื่อผลทางร่างกายที่เป็นที่นิยมกันมาก แต่เป็นโยคะทางจิตและวิญญาณ เป็นศาสตร์ของการตระหนักรู้ในตน ซึ่งเป็นความหมายอันแท้จริงของคำว่าโยคะ”
“…คัมภีร์อุปนิษัทแห่งยุคสมัยใหม่...”
“ศาสตราจารย์อศุทศ ทาส Ph.D., D.Litt. แห่งมหาวิทยาลัยกัลกัตตาประกาศว่า “อัตชีวประวัติของโยคี นี้ถือเป็นคัมภีร์อุปนิษัทแห่งยุคสมัยใหม่... สามารถตอบสนองความกระหายทางธรรมของผู้แสวงหาสัจธรรมในทั่วทุกมุมโลกได้ ด้วยความทึ่งและอัศจรรย์ใจ พวกเราที่อยู่ในอินเดียต่างเฝ้ามองปรากฏการณ์ที่ผู้คนหันมาสนใจเรื่องราวของเหล่านักบุญและปรัชญาของอินเดียกันมากขึ้น เพราะความนิยมในหนังสือเล่มนี้เป็นเหตุ เรารู้สึกพอใจและภูมิใจอย่างยิ่งที่หยาดน้ำอมฤตแห่งสนาตนธรรมหรือกฎแห่งสัจธรรมอันเป็นนิรันดร์ของอินเดีย ได้รับการเก็บรักษาเอาไว้เป็นอย่างดี ในถ้วยทองคำของหนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี”
แม้กระทั่งในอดีตสหภาพโซเวียต หนังสือเล่มนี้ก็สร้างความประทับใจให้กลุ่มคนหยิบมือเดียวที่มีช่องทางจะแสวงหามาอ่านได้ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ ท่านผู้พิพากษาวี. อาร์. กฤษณะ อิเยร์ อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาของอินเดียได้เล่าถึงการไปเยือนเมืองแห่งหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลจากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (สมัยนั้นเรียกเมืองเลนินกราด) โดยท่านได้ซักถามกลุ่มอาจารย์ในเมืองนั้นว่า “เคยคิดหรือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคนตายไป...อาจารย์ท่านหนึ่งเดินเข้าไปข้างในเงียบๆ แล้วกลับออกมาพร้อมหนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี ผมแปลกใจมาก ในประเทศที่ปกครองด้วยหลักปรัชญาวัตถุนิยมของมาร์กซ์และเลนินเช่นนี้ แต่กลับมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐบาลเอาหนังสือของท่านปรมหังสา โยคานันทะออกมาอวดผมได้! ‘ขอความกรุณาท่านได้รับรู้ไว้ด้วยว่าเรื่องทางธรรมของอินเดียนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรสำหรับพวกเรา’ เขาบอก ‘เรายอมรับความจริงแท้ของทุกสิ่งที่บันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้’”
“...หนังสือที่ช่วยเปิดหน้าต่างของทั้งจิตและวิญญาณ”
“ในบรรดาหนังสือนับพันๆ เล่มที่ตีพิมพ์ออกมาในแต่ละปี” บทความบทหนึ่งใน India Journal (ฉบับวันที่ 21 เมษายน 1995) ให้ข้อสรุป “มีทั้งหนังสือที่มุ่งให้ความบันเทิง ให้การศึกษา และให้การสอนสั่งเพื่อพัฒนาจิตใจ และถ้าผู้อ่านท่านใดพบหนังสือที่ให้ทั้งสามประการนี้ในเล่มเดียวได้ ก็นับเป็นโชคอย่างมหาศาล ยิ่ง อัตชีวประวัติของโยคี ด้วยแล้ว ยิ่งหาได้ยากยิ่งกว่า เพราะเป็นหนังสือที่เปิดหน้าต่างของทั้งจิตและวิญญาณ”
“…ยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนังสือทางวิถีธรรมที่ให้ทั้งความเพลิดเพลินและความสว่างทางปัญญามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา”
“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หนังสือเล่มนี้ได้รับคำยกย่องชมเชยจากทั้งผู้จำหน่าย นักวิจารณ์ และนักอ่านในฐานะที่เป็นหนึ่งในหนังสือที่ทรงอิทธิพลด้านวิถีธรรมมากที่สุดเล่มหนึ่งแห่งยุคสมัยใหม่ ในทำเนียบนักเขียนและนักวิชาการของฮาร์เปอร์คอลลินส์ปี 1999 อัตชีวประวัติของโยคี ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน ‘หนังสือทางวิถีธรรม “100 เล่ม ที่ดีที่สุดแห่งศตวรรษ” และในหนังสือ 50 Spiritual Classics ซึ่งตีพิมพ์ออกมาในปี 2005 ทอม บัตเลอร์-บาวเดนได้เขียนชมว่า อัตชีวประวัติของโยคี“ ควรค่าแก่การยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนังสือทางวิถีธรรมที่ให้ทั้งความเพลิดเพลินและความสว่างทางปัญญามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา”
ในบทสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ ท่านปรมหังสา โยคานันทะได้เขียนข้อยืนยันอันลึกล้ำที่เหล่านักบุญและนักปราชญ์ในทุกศาสนาของโลกได้ให้การรับรองสืบต่อกันมาทุกยุคทุกสมัยว่า:
“พระเจ้าเป็นความรัก การสรรค์สร้างสรรพสิ่งของพระองค์ก็อุบัติขึ้นจากความรักเพียงประการเดียวเท่านั้น ก็สิ่งที่ปลอบปลุกใจมนุษย์ได้คือความคิดอันเรียบง่าย หาใช่การยกเหตุผลแบบผู้ทรงภูมิมาว่ากล่าวกันไม่ หรือมิใช่? นักบุญทุกคนผู้เข้าถึงแก่นแห่งความจริงได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แผนการรังสรรค์จักรวาลของพระเป็นเจ้ามีอยู่จริง และเป็นแผนที่งดงามและนำมาซึ่งความสุขอันบริบูรณ์.”
ในขณะที่ อัตชีวประวัติของโยคี ได้ย่างเข้าสู่ปีที่ 75 เราหวังเหลือเกินว่าผู้อ่านทุกคนที่ได้อ่านงานเขียนอันให้แรงบันดาลใจเล่มนี้—ทั้งผู้ที่อ่านเป็นครั้งแรก และผู้ที่ถือเอาหนังสือเล่มนี้เป็นเพื่อนในยามก้าวย่างไปบนเส้นทางชีวิตมานานนักหนาแล้ว—จะพบว่าวิญญาณของพวกเขาได้เปิดรับศรัทธาอันลึกล้ำในสัจธรรมอันสูงส่ง ซึ่งดำรงอยู่ในใจกลางของสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นปริศนาความลี้ลับแห่งชีวิต
กำเนิดและพัฒนาการ
การประพันธ์หนังสือเล่มนี้เคยมีการทำนายเอาไว้ล่วงหน้าเป็นเวลานานมาแล้ว
การประพันธ์หนังสือเล่มนี้เคยมีการทำนายเอาไว้ล่วงหน้าเป็นเวลานานมาแล้ว กล่าวคือ ท่านลาหิริ มหัสยะ (1828 - 1895) ครูบาอาจารย์ผู้ควรค่าแก่การเคารพแห่งศตวรรษที่ 19 และเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญผู้ผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูศาสตร์แห่งโยคะขึ้นในยุคปัจจุบัน ได้ทำนายว่า “หลังเราละสังขารไปได้ราวห้าสิบปี จะมีผู้เรียงร้อยเรื่องราวชีวิตของเรานี้เป็นตัวอักษร เพราะโลกตะวันตกเริ่มหันมาสนใจศึกษาศาสตร์แห่งโยคะกันอย่างจริงจัง สาระสำคัญของวิชาโยคะจะแพร่หลายไปทั่วโลก และจะช่วยสถาปนาภราดรภาพขึ้นในหมู่มวลมนุษย์ เป็นเอกภาพอันเกิดจากการที่มนุษย์สามารถหยั่งรู้ได้ด้วยตนเองว่าเรามีพระบิดาเจ้าองค์เดียวกัน”

หลายปีต่อมา ท่านสวามีศรียุกเตศวร ศิษย์ชั้นสูงของท่านลาหิริ มหัสยะ ได้เล่าคำทำนายนี้ให้กับท่านศรีโยคานันทะฟัง “เธอจะต้องทำหน้าที่ในส่วนของเธอ จงเผยแผ่คำสอนของท่านออกไป และจงเขียนชีวประวัติอันศักดิ์สิทธิ์ของท่านขึ้นเถิด”
ปี 1945 ห้าสิบปีหลังจากท่านลาหิริ มหัสยะละสังขาร ท่านปรมหังสา โยคานันทะได้เขียนหนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี เสร็จสมบูรณ์ ถือเป็นการกระทำตามคำสั่งของท่านผู้เป็นคุรุได้ครบถ้วนบริบูรณ์ทั้งสองประการ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอชีวประวัติอันโดดเด่นของท่านลาหิริ มหัสยะเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรก หรือการนำศาสตร์แห่งวิญญาณอันเก่าแก่ของอินเดียมาเผยแพร่ไปสู่ผู้คนทั้งหลายในโลก
จะมีผู้เรียงร้อยเรื่องราวชีวิตของเรานี้เป็นตัวอักษร เพราะโลกตะวันตกเริ่มหันมาสนใจศึกษาศาสตร์แห่งโยคะกันอย่างจริงจัง สาระสำคัญของวิชาโยคะจะแพร่หลายไปทั่วโลก
ท่านลาหิริ มหัสยะ
หนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี เป็นโครงการระยะยาวที่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่ท่านปรมหังสา โยคานันทะจะประพันธ์ได้แล้วเสร็จ ท่านศรีทยมาตา หนึ่งในศิษย์รุ่นแรกและศิษย์ที่ใกล้ชิดกับท่านที่สุด ได้เล่าให้ฟังว่า:
“ตอนที่ฉันมาที่เมานต์วอชิงตันเมื่อปี 1931 ท่านปรมหังสาได้เริ่มลงมือเขียนหนังสือ อัตชีวประวัติ แล้ว ครั้งหนึ่ง ขณะเข้าไปรับใช้ช่วยทำงานเป็นเลขานุการให้ท่านในห้องหนังสือ ฉันมีวาสนาได้เห็นงานเขียนบทแรกๆ ของท่านบทหนึ่งคือบท ‘สวามีพยัคฆ์’ ท่านเรียกให้ฉันเก็บงานเขียนบทนั้นไว้ โดยบอกว่าจะรวมมันไว้ในหนังสือเล่มที่ท่านกำลังเขียนอยู่ เนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือเล่มนี้ท่านมาเขียนในภายหลัง ช่วงปี 1937 ถึง 1945”
จากเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1935 ถึงตุลาคม ค.ศ. 1936 ท่านศรีโยคานันทะได้เดินทางกลับมายังอินเดีย (ผ่านยุโรปและปาเลสไตน์) เป็นการกลับมาเยี่ยมคารวะท่านสวามีศรียุกเตศวร คุรุของท่านเป็นครั้งสุดท้าย ระหว่างที่อยู่ในอินเดีย ท่านได้เก็บรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงมากมายมาไว้เพื่อเขียนหนังสือ อัตชีวประวัติ นี้ รวมไปถึงเรื่องราวของนักบุญและนักปราชญ์อีกหลายท่านที่ท่านเคยรู้จัก และได้นำชีวิตของท่านเหล่านั้นมาพรรณนาไว้ในหนังสือได้อย่างน่าประทับใจ “ข้าพเจ้าไม่เคยลืมคำขอร้องของท่านศรียุกเตศวร เรื่องที่จะให้เขียนชีวประวัติของท่านลาหิริ มหัสยะ” ท่านเขียนในเวลาต่อมา “ระหว่างกลับไปเยือนอินเดีย ข้าพเจ้าหาโอกาสติดต่อศิษย์โดยตรงและญาติของท่านผู้เป็นองค์โยคาวตารทุกครั้งที่ทำได้ จดบันทึกเรื่องราวที่ได้สนทนากับท่านเหล่านั้นเอาไว้มากมาย ตรวจสอบข้อเท็จจริงและวันเวลา ตลอดจนเก็บรวบรวมภาพถ่าย จดหมาย และเอกสารเก่าๆ เอาไว้ด้วย”
เมื่อกลับถึงสหรัฐอเมริกาปลายปี 1936 ท่านเริ่มใช้เวลาอยู่ที่อาศรมซึ่งสร้างขึ้นเพื่อท่านในระหว่างที่ท่านไม่อยู่ ที่เอนซินิตัส บนชายฝั่งตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย ดูเหมือนจะเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การสำรวมความคิดในการเขียนหนังสือที่ท่านเริ่มไว้ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อนให้สำเร็จสมบูรณ์

“ฉันยังจำวันเวลาที่อาศรมอันสุขสงบริมทะเลแห่งนั้นได้แม่นยำ” ท่านศรีทยมาตาเล่า “ท่านมีงานในความรับผิดชอบมากเสียจนกระทั่งไม่อาจปลีกตัวมาเขียนหนังสือ อัตชีวประวัติ ได้ทุกวัน แต่ก็หาเวลาช่วงเย็นๆ ค่ำๆ และทุกครั้งที่มีเวลาว่างมาเขียน จนราวปี 1939 หรือ 40 ท่านจึงค่อยมีเวลามาทุ่มเทให้กับหนังสือเล่มนี้อย่างเต็มที่ และที่ว่าเต็มที่นี้ก็คือ—จากรุ่งเช้าวันนี้ไปจนรุ่งเช้าวันพรุ่งนี้! โดยมีพวกเรากลุ่มลูกศิษย์กลุ่มเล็กๆ— ตารมาตา อานันทมาตาน้องสาวของฉัน ศรัทธมาตา และตัวฉัน— คอยอยู่รับใช้งานท่าน หลังจากที่พิมพ์แต่ละบทแต่ละตอนจบ ท่านจะส่งงานเหล่านั้นให้กับตารมาตา ผู้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ
“ความทรงจำเหล่านั้นช่างล้ำค่าอะไรเช่นนี้! ระหว่างที่ท่านเขียนไป ท่านก็หวนคิดถึงประสบการณ์อันศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านได้จารจำไว้ จุดมุ่งหมายอันสูงส่งของท่านคือการเผื่อแผ่ความสุขและความจริงที่ได้ประสบพบมา ในระหว่างที่ได้อยู่ร่วมกับนักบุญและครูบาอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ และในระหว่างที่ตัวท่านเองได้เข้าถึงองค์พระเป็นเจ้าให้กับผู้อื่นด้วย บ่อยครั้งที่ท่านจะหยุดเป็นพักๆ เหลือบตามองขึ้นเบื้องบน ร่างนิ่งสนิท จิตตั้งมั่นอยู่ในสมาธิที่หยั่งลึกจนเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้า ห้องทั้งห้องจะอบอวลไปด้วยรัศมีแห่งความรักของพระเป็นเจ้าที่ทรงพลังอย่างยิ่ง สำหรับเราเหล่าสานุศิษย์ แค่ได้อยู่ร่วมกับท่านในช่วงเวลาดังกล่าว ก็เหมือนกับจิตสำนึกของเราได้รับการยกระดับให้สูงขึ้นแล้ว
“ท้ายที่สุด ในปี 1945 วันแห่งความยินดีที่หนังสือเล่มนี้เสร็จสมบูรณ์ก็มาถึง ท่านปรมหังสาจรดปากกาเขียนประโยคสุดท้ายว่า ‘ข้าแต่พระเป็นเจ้า ทรงประทานครอบครัวอันใหญ่ยิ่งให้กับสวามีผู้นี้โดยแท้’ แล้ววางปากกาลงพร้อมบอกด้วยความยินดีว่า:
“ ‘เสร็จหมดแล้ว หนังสือเล่มนี้จะเปลี่ยนชีวิตคนนับล้านๆ คน และจะเป็นผู้ส่งสารแทนตัวเราในยามที่เราจากโลกนี้ไปแล้ว’”
บทบาทของตารมาตาในการจัดพิมพ์หนังสือ
จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของท่านตารมาตาที่จะต้องหาผู้จัดพิมพ์ ท่านปรมหังสา โยคานันทะได้พบกับท่านตารมาตาขณะไปบรรยายและเปิดชั้นสอนโยคะที่ซานฟรานซิสโก เมื่อปี 1924 ท่านตารมาตามีญาณหยั่งรู้ทางธรรมที่หาได้ยากยิ่ง และได้กลายมาเป็นหนึ่งในกลุ่มสานุศิษย์กลุ่มเล็กๆ ที่มีความก้าวหน้าในทางธรรมอย่างสูงยิ่ง ท่านโยคานันทะยกย่องความสามารถในการทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการของเธออย่างสูง และเคยบอกด้วยว่าเธอเป็นหนึ่งในผู้มีสติปัญญาฉลาดหลักแหลมที่สุดเท่าที่ท่านเคยได้พบมา ท่านชื่นชมความรอบรู้และความเข้าใจที่เธอมีต่อภูมิปัญญาในคัมภีร์ต่างๆ ของทางอินเดีย ถึงกับครั้งหนึ่งเคยตกปากว่า “นอกจากท่านศรียุกเตศวร คุรุผู้ยิ่งใหญ่ของเราแล้ว เห็นจะไม่มีใครที่เราคุยเรื่องปรัชญาอินเดียด้วยได้อย่างออกรสเหมือนคุยกับตารมาตาอีกแล้ว”
ท่านตารมาตานำต้นฉบับไปยังนครนิวยอร์ก แต่ผู้ที่จะพิมพ์หนังสือให้ใช่จะหากันได้ง่ายๆ ก็อย่างที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ ว่าความสำเร็จของผลงานอันยิ่งใหญ่มักไม่ค่อยสะดุดตาผู้คนที่มีความคิดค่อนข้างติดอยู่กับแบบแผนเดิมๆ ถึงยุคปรมาณูใหม่ๆ หมาดๆ จะช่วยขยายขอบเขตความรับรู้โดยรวมของมนุษยชาติ ด้วยการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในเรื่องเอกภาพอันละเอียดอ่อนของสสาร พลังงานและความคิด แต่สำนักพิมพ์ในยุคนั้นก็ยากจะทำใจให้พร้อมไปกับเรื่องราวในงานเขียนหลายบทของท่าน เช่น บท “เนรมิตเวียงวังกลางหิมาลัย” และ “สวามีสองร่าง”! เป็นต้น
ท่านตารมาตาต้องอาศัยอยู่ในแฟล็ตซอมซ่อ ไม่มีน้ำร้อนอยู่นานเป็นปี ในขณะที่เที่ยวเวียนไปติดต่อตามสำนักพิมพ์ต่างๆ สุดท้าย เธอก็ส่งข่าวดีมาจนได้ นั่นคือ สำนักพิมพ์ฟิโลโซฟิคอลไลบรารี สำนักพิมพ์มีชื่อของนิวยอร์กรับจะพิมพ์หนังสืออัตชีวประวัติ “สิ่งที่เธอทำให้กับหนังสือเล่มนี้ เราไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นบรรยายอย่างไรดี....” ท่านศรีโยคานันทะว่า “ถ้าปราศจากเธอ หนังสือเล่มนี้คงไม่ได้พิมพ์”
ไม่กี่วันก่อนคริสตมาสของปี 1946 หนังสือที่พวกเราเฝ้ารอมาเป็นเวลานานก็มาถึงเมานต์วอชิงตัน
คำชื่นชมอย่างล้นหลาม
หนังสือเล่มนี้ได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านและสื่อสารมวลชนทั่วโลกโดยมีคำชื่นชมตามติดมาอย่างล้นหลาม “ไม่เคยมีอะไรก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาในภาคพื้นยุโรปอื่นใด ที่จะเหมือนกับหนังสือซึ่งนำเสนอเรื่องของโยคะเล่มนี้” นี่คือข้อความที่ทางโคลัมเบียยูนิเวอร์ซิตี้เพรสลงไว้ใน Review of Religions ส่วน The New York Times ก็ชื่นชมว่าเป็น “เรื่องเล่าที่หาได้ยากยิ่ง” Newsweek รายงานว่า “หนังสือของท่านโยคานันทะเป็นชีวประวัติของวิญญาณมากกว่าจะเป็นชีวประวัติของตัวบุคคล... น่าทึ่งและเป็นการศึกษาวิถีชีวิตทางศาสนาที่มีคำอธิบายประกอบชัดเจน บอกเล่าเรียบง่ายตรงไปตรงมาในลีลาที่งามหรูของโลกตะวันออก”
ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่สองมีการเตรียมการอย่างรวดเร็ว จนมีฉบับตีพิมพ์ครั้งที่สามตามมาในปี 1951 นอกจากการปรับปรุงต้นฉบับ ตัดทอนข้อความในส่วนที่กล่าวถึงกิจกรรมและแผนงานของทางสมาคมที่ไม่มีอยู่อีกแล้วออกไป ท่านปรมหังสา โยคานันทะยังได้เพิ่มเติมบทสุดท้ายเข้าไป—เป็นหนึ่งในบทที่ยาวที่สุดในหนังสือ— โดยเป็นเรื่องราวในช่วงปี 1940-1951 และได้บอกไว้ในเชิงอรรถของบทใหม่นี้ว่า “เนื้อหาในบทที่ 49 นี้เพิ่มเติมมาในฉบับตีพิมพ์ครั้งที่สาม (ปี 1951) เหตุเพราะมีผู้อ่านหลายท่านที่เคยอ่านฉบับตีพิมพ์สองครั้งแรกไปแล้วได้เขียนมาถามคำถามมากมาย ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสตอบคำถามเหล่านั้นผ่านทางเนื้อหาบทนี้ ทั้งเรื่องเกี่ยวกับอินเดีย โยคะ และปรัชญาพระเวท”
บทแก้ไขปรับปรุงจากท่านปรมหังสา โยคานันทะ มีรวบรวมไว้ในฉบับตีพิมพ์ครั้งที่เจ็ด (ปี 1956) ดังปรากฏความอยู่ในหมายเหตุผู้จัดพิมพ์ ในปัจจุบันหนังสือฉบับตีพิมพ์โดยเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ทั้งหมดได้รวมเนื้อหาสุดท้ายที่ท่านโยคานันทะมุ่งหวังจะให้ปรากฏในหนังสือเอาไว้
พัฒนาการหลังการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1946
การตีพิมพ์ของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ได้รวบรวมเนื้อหาสุดท้ายของ อัตชีวประวัติของโยคี ตามความมุ่งหวังของผู้ประพันธ์เอาไว้ทั้งหมด ซึ่งไม่ปรากฏในการตีพิมพ์ของที่อื่น— ซึ่งท่านได้ชี้แนะเป็นการส่วนตัวให้กับบรรณาธิการที่ท่านทำงานด้วยตั้งแต่ปี 1924 จนเมื่อละสังขารในปี 1952 ซึ่งท่านไว้วางใจมอบหมายงานทั้งหมดที่เกี่ยวกับการตีพิมพ์หนังสือของท่านเอาไว้ให้
บางครั้งผู้อ่าน อัตชีวประวัติของโยคี ถามว่าฉบับปัจจุบันและฉบับพิมพ์ครั้งแรกในปี 1946 แตกต่างกันอย่างไร
ในช่วงชีวิตของท่านปรมหังสาจี มีอัตชีวประวัติตีพิมพ์ออกมาสามฉบับ ท่านปรับเปลี่ยนฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 3 ในปี 1951 อย่างมาก—มีการปรับปรุงเนื้อหาอย่างละเอียด ขยายความบางประเด็น และเพิ่มเติมบทสุดท้าย “ปี 1940-1951” (บทที่ยาวที่สุดบทหนึ่งในหนังสือ) ขึ้นมาใหม่ ท่านยังปรับปรุงเพิ่มเติมอีกหลังจากที่ไม่สามารถรวมการแก้ไขใหม่เข้าไปได้จนกระทั่งการตีพิมพ์ครั้งที่ 7 ซึ่งออกมาในปี 1956
หมายเหตุผู้จัดพิมพ์ใน อัตชีวประวัติของโยคี ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 7 บอกถึงประวัติของความมุ่งหวังในหนังสือเล่มนี้ของท่านผู้เขียน:
“หนังสือฉบับตีพิมพ์ในอเมริกาปี 1956 มีการแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาตามที่ท่านปรมหังสา โยคานันทะได้ทำไว้เมื่อปี 1949 สำหรับการตีพิมพ์ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และมีการแก้ไขเพิ่มเติมจากท่านผู้ประพันธ์อีกครั้งในปี 1951 ใน ‘หมายเหตุฉบับตีพิมพ์ที่กรุงลอนดอน’ ลงวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ.1949 นั้น ท่านปรมหังสา โยคานันทะได้บันทึกเอาไว้ว่า ‘การตระเตรียมงานสำหรับฉบับตีพิมพ์ที่ลอนดอนทำให้ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ปรับปรุงแก้ไข และเพิ่มเนื้อหาเข้าไปในหนังสือเล่มนี้อีกเล็กน้อย นอกจากเนื้อหาใหม่ในบทสุดท้ายแล้ว ข้าพเจ้ายังได้เพิ่มเชิงอรรถเพื่อตอบคำถามที่ท่านผู้อ่านฉบับตีพิมพ์ในอเมริกาได้เคยเขียนจดหมายมาถามเอาไว้อีกด้วย’
“การแก้ไขเพิ่มเติมภายหลังที่ท่านผู้เขียนทำขึ้นในปี 1951 นั้น เดิมท่านมุ่งหวังจะให้ปรากฏในฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 4 ที่อเมริกา (ปี 1952) ขณะนั้นลิขสิทธิ์ของ อัตชีวประวัติของโยคี ยังเป็นของสำนักพิมพ์ในนิวยอร์ก ซึ่งในปี 1946 ที่นิวยอร์กนั้น หนังสือแต่ละหน้าจะถูกนำไปทำเป็นเพลตแบบอิเล็กโตรไทพ์ ผลที่ตามมาคือหากจะเพิ่มเครื่องหมายจุลภาคเข้าไปสักตัว เพลตของทั้งหน้าก็จะต้องถูกตัดออก เพื่อจะเพิ่มบรรทัดใหม่ที่มีเครื่องหมายตามต้องการเข้าไป ความยุ่งยากทางเทคนิคดังกล่าว ซึ่งทำให้ต้องใช้เพลตมากขึ้นมีผลต่อค่าใช้จ่าย ดังนั้น สำนักพิมพ์นิวยอร์กจึงไม่ได้รวมการแก้ไขเพิ่มเติมของท่านผู้เขียนในปี 1951 เข้าไว้ในฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 4
“ช่วงปลายปี 1953 ทางเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ (เอสอาร์เอฟ) ได้ซื้อลิขสิทธิ์ของหนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี และพิมพ์หนังสือออกมาอีกครั้งในปี 1954 และ 1955 (ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ห้าและหก) แต่ช่วงสองปีนั้น กองบรรณาธิการของเอสอาร์เอฟมีภาระหน้าที่อื่นมากมายจนไม่อาจจะรวมส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมของท่านผู้เขียนลงบนอิเล็กโตรไทพ์เพลตได้ ด้วยว่าเป็นงานที่เกินกำลังและความเชี่ยวชาญเต็มที แต่กระนั้น งานก็ยังเสร็จออกมาทันสำหรับฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 7”
การแก้ไข ตัดทอน และเพิ่มเติมทั้งหมดที่ทำระหว่างปี 1946-1956 เป็นการทำตามคำขอของท่านปรมหังสาจี การปรับปรุงแก้ไขอื่นๆ—ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงจุดเล็กๆ— ได้ถูกทำในภายหลัง โดยท่านตารมาตา ตามคำชี้แนะที่ได้รับมาจากท่านปรมหังสา โยคานันทะก่อนที่ท่านจะละสังขาร ท่านตารมาตาเป็นบรรณาธิการให้กับท่านโยคานันทะมาอย่างยาวนาน และทำงานใกล้ชิดกับท่านมามากกว่า 25 ปี ท่านได้ให้คำชี้แนะและมอบหมายให้เธอดูแลงานที่จะตีพิมพ์หลังท่านละสังขารไปแล้วด้วยความไว้วางใจอย่างสูงสุด
ท่านปรมหังสาจีเห็นล่วงหน้าอย่างชัดเจนว่าหนังสือเล่มนี้จะมีผู้อ่านที่ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ ในแต่ละปีๆ ท่านจึงแนะนำบรรณาธิการของท่านให้เพิ่มเติม เชิงอรรถ รูปภาพ คำบรรยายภาพ ฯลฯ ที่น่าจะจำเป็นสำหรับการทำให้หนังสือทันสมัยอยู่เสมอ
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังปี 1956 เป็นต้นมา นับว่าเป็นเรื่องปกติที่สำนักพิมพ์ใดๆ ก็ตามจะทำเพื่อแก้ไขปรับปรุงฉบับตีพิมพ์ทีหลังของหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ (ยกตัวอย่างเช่น การปรับแก้รายการหนังสืออื่นๆ ของท่านผู้เขียนให้ทันสมัย การเพิ่มเชิงอรรถที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านในขณะนั้น โดยบอกชัดเจนว่าเป็นการเพิ่มเติมโดยสำนักพิมพ์ ไม่ใช่โดยท่านผู้เขียน รวมถึงการเพิ่มรูปภาพของท่านผู้เขียนและกิจกรรมต่างๆ ของท่าน และการแก้ไขที่จำเป็นอื่นๆ ในหน้าแรกๆ และหน้าท้ายๆ ของหนังสือ)
ในการตีพิมพ์ อัตชีวประวัติของโยคี ฉบับแรกๆ ใช้คำนำหน้าชื่อท่านผู้เขียนว่า “Paramhansa” ซึ่งเป็นการออกเสียงตามแบบภาษาเบงกาลี ที่มักจะงดออกเสียงหรือแทบจะไม่ออกเสียงตัว a ในการตีพิมพ์ฉบับต่อๆ มา เพื่อเป็นการสื่อถึงความศักดิ์สิทธิ์ของชื่อที่มีรากจากพระเวทนี้ ได้ใช้การถอดเสียงสันสกฤตของคำนี้ว่า “Paramahansa” ซึ่ง parama แปลว่า “สูงสุดหรือสำคัญที่สุด” และ hansa แปลว่า “หงส์” อันหมายถึงผู้ที่เข้าถึงการรู้แจ้งสูงสุดในสภาวะทิพย์ของตนอันแท้จริง และในความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างตนกับบรมวิญญาณ
หากเปรียบเทียบกับหนังสือที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1946 อัตชีวประวัติ ที่จัดพิมพ์โดยเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ในปัจจุบันได้เพิ่มภาพของท่านปรมหังสา โยคานันทะและภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อความมากกว่า 20 หน้า ภาพเหล่านี้เป็นภาพสะสมของสมาคมที่ช่วยให้ผู้อ่านที่สนใจเห็นภาพของท่านผู้เขียนและงานของท่านได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
เรื่องเล่าจากศิษย์ใกล้ชิด
สานุศิษย์ของท่านปรมหังสา โยคานันทะรู้สึกอย่างไรกับอัตชีวประวัติของโยคี
เดือนธันวาคม ปี 1946 หนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี ฉบับแรกที่ถูกส่งมาจากสำนักพิมพ์ในนิวยอร์ก ได้มาถึงศูนย์กลางนานาชาติของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ในโอกาสของการฉลองการครบรอบ 50 ปีของหนังสือในปี 1996 ศิษย์ใกล้ชิดของท่านปรมหังสา โยคานันทะบางท่านยังคงอยู่กับเรา และได้เล่าความทรงจำเกี่ยวกับวันที่หนังสือเดินทางมาถึง รวมถึงอิทธิพลของหนังสือที่มีต่อชีวิตพวกท่าน พวกท่านเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้สัมผัสกับทิพยปัญญา ความรัก และการแปรเปลี่ยนการมองชีวิตที่ปรากฏบนหน้าหนังสือเล่มนี้ จากวันนั้นแต่ละหน้าของหนังสือนี้ได้เปลี่ยนชีวิตคนนับล้าน
ศรีทยมาตา
การเขียนหนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี เป็นงานที่ท่านปรมหังสาจีใช้เวลายาวนานหลายปีกว่าจะแล้วเสร็จ ตอนที่ฉันมาที่เมานต์วอชิงตันเมื่อปี 1931 ท่านปรมหังสาได้เริ่มลงมือเขียนหนังสือ อัตชีวประวัติ แล้ว ครั้งหนึ่ง ขณะเข้าไปรับใช้ทำงานเป็นเลขานุการให้ท่านในห้องหนังสือ ฉันมีวาสนาได้เห็นงานเขียนบทแรกๆ ของท่านบทหนึ่งคือบท ‘สวามีพยัคฆ์’ ท่านเรียกให้ฉันเก็บงานเขียนบทนั้นไว้ โดยบอกว่าจะรวมมันไว้ในหนังสือเล่มที่ท่านกำลังเขียนอยู่
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือเล่มนี้ท่านมาเขียนในภายหลัง ช่วงปี 1937 ถึง 1945 ท่านปรมหังสาจีมีงานในความรับผิดชอบมากเสียจนกระทั่งไม่อาจปลีกตัวมาเขียนหนังสือ อัตชีวประวัติ ได้ทุกวัน แต่ก็หาเวลาช่วงเย็นๆ ค่ำๆ และทุกครั้งที่มีเวลาว่างมาเขียน โดยมีพวกเรากลุ่มลูกศิษย์กลุ่มเล็กๆ อานันทมาตา (ด้านล่าง) ศรัทธมาตา และตัวฉัน คอยอยู่ใกล้ ๆ ท่านในช่วงเวลาส่วนใหญ่ เราช่วยท่านพิมพ์ต้นฉบับ หลังจากที่พิมพ์แต่ละบทแต่ละตอนจบ คุรุเทพจะส่งงานเหล่านั้นให้กับตารมาตา ผู้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ
วันหนึ่ง ระหว่างการเขียนอัตชีวประวัติ ท่านคุรุได้บอกกับพวกเราว่า “เมื่อครูจากโลกนี้ไปแล้ว หนังสือเล่มนี้จะเปลี่ยนชีวิตคนนับล้านๆ คน และจะเป็นผู้ส่งสารแทนตัวครู ยามที่ครูจากโลกนี้ไปแล้ว”
เมื่อต้นฉบับเสร็จลง ท่านตารมาตาได้ไปที่นิวยอร์กเพื่อหาผู้จัดพิมพ์ ท่านปรมหังสาจียกย่องความสามารถในการทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการของเธออย่างสูงและมักกล่าวยกย่องเธอต่อหน้าผู้คน ท่านกล่าวว่า “สิ่งที่เธอทำให้กับหนังสือเล่มนี้ เราไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นบรรยายอย่างไรดี เธอป่วยหนักมากก่อนที่เธอจะไปนิวยอร์ก แล้วก็เดินทางไปในสภาพเช่นนั้น ถ้าปราศจากเธอ หนังสือเล่มนี้คงไม่ได้พิมพ์”
ความรู้สึกของคุรุเทพเมื่อหนังสือเล่มนี้เสร็จสิ้นคือความสุขที่ไม่สามารถบรรยายได้ ท่านเซ็นหนังสือให้กับฉัน และลูกศิษย์คนอื่นๆ อีกมากมายที่อยู่ในอาศรมนี้ เมื่อฉันได้รับหนังสือนี้ จากการที่ได้รับใช้พิมพ์ต้นฉบับ ฉันรู้ว่านี่เป็นหนังสืออมตะ เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ความจริงที่ถูกซ่อนเร้นได้ถูกเปิดเผยออกมาอย่างชัดเจนและสร้างแรงดลใจ อย่างที่ไม่เคยมีหนังสือเล่มไหนนำเสนอมาก่อน ไม่มีนักเขียนคนไหนให้คำอธิบายเหมือนคุรุจี ในเรื่องอัศจรรย์ การเกิดใหม่ กรรม ชีวิตหลังความตาย และความจริงทางธรรมที่น่าทึ่งทั้งหลายเหมือนที่ปรากฏในหน้าหนังสือเล่มนี้
ความรู้สึกของท่านต่อชื่อเสียงของหนังสือในทุกวันนี้จะเป็นอย่างไร? ท่านคงรู้สึกประทับใจอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน ที่ อัตชีวประวัติของโยคี แพร่หลายไปทั่วทุกมุมโลก ไปยังผู้คนทุกวัฒนธรรม ทุกเชื้อชาติ ศาสนาและวัย และได้รับคำชื่นชมและความสนใจอย่างยิ่งมาตลอดห้าสิบปีนี้ แม้ว่าคุรุจีจะไม่เคยให้ความสำคัญกับตัวเอง ท่านเชื่อมั่นในคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของสิ่งที่ท่านเขียนอย่างแน่นอน เพราะท่านรู้ว่าท่านเขียนสัจจะ
ตารมาตา


แด่ลอรี แพร็ตของเรา
“ขอพระเจ้าและองค์คุรุทั้งหลายประสาทพรแด่เธอ เพราะความกล้าหาญและความรักที่เธอให้กับการผลิตหนังสือเล่มนี้ออกมา พี.วาย.”
“ในที่สุดความหอมหวลอันศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า ขององค์คุรุของเราและครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้เผยปรากฏออกมาจากประตูอันศักดิ์สิทธิ์ของวิญญาณของเรา—หลังจากอุปสรรคอันไม่รู้จบสิ้นและความพยายามอย่างไม่ลดละของลอรี แพร็ตและลูกศิษย์คนอื่นๆ เหล่าอุปสรรคทั้งหลายถูกเผาผลาญไปในเปลวเพลิงแห่งปีติสุขอันเป็นนิรันดร์”
มฤนลินีมาตา
เย็นวันหนึ่งในอาศรมเอนซินิตัส ปลายปี 1946 ขณะที่พวกเราศิษย์รุ่นเยาว์กำลังวุ่นอยู่กับงานในครัว คุรุเทพก็เดินเข้าประตูมา เราหยุดทำทุกอย่างและพุ่งความสนใจไปที่รอยยิ้มกว้างและตาที่เปล่งประกายงดงามกว่าปกติของท่าน ท่านไพล่มือไปด้านหลัง แอบซ่อน “บางอย่าง” อยู่ ท่านเรียกคนอื่นๆ เข้ามาอีกและให้เราเข้าแถวต่อหน้าท่าน แล้วท่านก็โชว์ให้เราเห็นสมบัติที่ซ่อนอยู่—นั่นก็คือหนังสือตัวอย่างของ อัตชีวประวัติของโยคี นอกจากเสียง “โอ้” และ “อ้า” แล้ว เราแทบจะไม่สามารถแสดงออกถึงความยินดีอื่นใดได้อีก เมื่อได้เห็นหนังสือเรื่องราวชีวิตของท่านกับเหล่านักบุญและนักปราชญ์ของอินเดียที่เราเฝ้ารอมานาน— ท่านเคยทำให้เราหลงใหลในเรื่องราวเหล่านี้อย่างยิ่งในช่วงเวลามีค่าที่เราได้อยู่กับท่าน แล้วท่านก็เปิดบางหน้าให้เราดู และเก็บภาพวาดของมหาวตารบาบาจี ไว้เป็นหน้าสุดท้าย เราน้อมคารวะอย่างแทบจะไม่หายใจ และซึมซับพระพรของการได้เป็นคนกลุ่มแรกที่ได้เห็นภาพเหมือนของบรม-บรม-บรมคุรุของเรา
ต้นเดือนธันวาคม เราทั้งหมดถูกเรียกให้ไปรวมกันที่เมานต์วอชิงตัน เพื่อรอรับห่อหนังสือจากสำนักพิมพ์ และเตรียมการจัดส่งไปรษณีย์ไปให้ลูกศิษย์ที่กำลังเฝ้ารอมากมาย—มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าเข้ามาจำนวนหลายร้อยเล่ม ก่อนหน้านั้นหลายอาทิตย์ หากพวกเราคนใดคนหนึ่งมีเวลาว่าง เราจะมานั่งพิมพ์ป้ายที่อยู่ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดรุ่นเก่า เราตั้งโต๊ะตัวใหญ่ (แผ่นกระดานเรียบวางบนแท่นม้าโรงเลื่อย) ในสำนักงาน เตรียมพร้อมสำหรับสายพานการทำงาน ตั้งแต่ห่อหนังสือแต่ละเล่มด้วยกระดาษส่งจดหมายสีน้ำตาลที่มาจากม้วนขนาดใหญ่ แล้วตัดกระดาษด้วยมือให้ได้ขนาดที่พอดี แปะหน้าซองและแสตมป์ ที่เราใช้ฟองน้ำทำให้เปียก เวลานั้นเราไม่มีเครื่องจักรหรือเครื่องห่อไปรษณีย์แต่อย่างใด! แต่ โอ้ เรามีความสุขมากที่ได้ร่วมในงานสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ โลกจะรู้จักท่านอาจารย์ผู้มีบุญยิ่งของเราผ่านทูตอันประเสริฐนี้
บนห้องนั่งเล่นชั้นสาม คุรุเทพนั่งเซ็นหนังสือทุกเล่มที่โต๊ะทำงานเป็นเวลาหลายชั่วโมงโดยไม่พักเลย หนังสือถูกแกะออกจากกล่องส่งของของสำนักพิมพ์ ถูกเปิดออก แล้ววางเบื้องหน้าท่านไปเรื่อยๆ เล่มแล้วเล่มเล่าให้ท่านเซ็นทีละเล่มๆ จนเมื่อปากกาหมึกซึมด้ามหนึ่งหมดลง อีกด้ามก็ถูกเติมหมึก
ตกดึก ท่านเรียกให้ฉันขึ้นไปพบข้างบน ท่านยังคงเซ็นหนังสืออยู่ ลูกศิษย์อาวุโสขอให้ท่านพักผ่อนเสียหน่อย แต่ท่านปฏิเสธแม้จะคิดพิจารณาคำขอนี้ จนกระทั่งท่านเซ็นหนังสือพร้อมประสาทพรจนครบทุกเล่มในรอบการส่งนั้น ใบหน้าท่านเปี่ยมด้วยความงดงามอย่างที่สุด ดั่งว่าตัวท่านจริงๆ และความรักที่ท่านมีต่อองค์พระเจ้ากำลังออกไปสู่โลกพร้อมหน้าหนังสือเหล่านั้น และไม่ควรที่จะหยุดแม้ชั่วเวลาเดียว
เข้ารุ่งเช้าของวันใหม่ เรานั่งสมาธิแทบเท้าของท่านด้วยความสุขที่ไม่สามารถบรรยายได้ ท่านอาจารย์ได้มอบหนังสืออันล้ำค่านี้ให้เราส่วนตัวคนละเล่ม ส่วนเล่มอื่นๆ ก็ถูกห่อพร้อมสำหรับการนำไปส่งในตอนเช้า หรือไม่ก็ห่อเอาไว้เพื่อส่งไปที่อารามของท่านในฮอลลีวูดและซานดิเอโก อัตชีวประวัติของโยคี พร้อมสำหรับการเดินทางตามลิขิตของพระผู้เป็นเจ้า นั่นก็คือ ที่สุดแล้วหนังสือนี้จะเป็นสารแห่งพระพรขององค์คุรุและความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าไปยังวิญญาณของผู้แสวงหานับล้าน
ไศลสุตมาตา
ขณะที่ท่านปรมหังสาจีกำลังเขียน อัตชีวประวัติของโยคี มีพวกเราไม่กี่คนพำนักอยู่ที่อาศรมเอนซินิตัส ท่านใช้เวลาเขียนหนังสือเล่มนี้หลายปีมาก ฉันพำนักอยู่ที่นั่นในบางช่วงเวลา
ท่านคุรุจีใช้เวลาเขียนหนังสือส่วนใหญ่ในห้องหนังสือของท่านในอาศรม ฉันจำได้ว่ามีบางครั้งท่านจะพูดให้คนเขียนตามทั้งคืน ในเวลาอื่นที่ท่านใช้เวลาต่อเนื่องทั้งวันหรือนานกว่านั้น ฉันไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเลขาจดบันทึกเหมือนทยมาตาหรืออนันทามาตา บางครั้งพวกเธอจดบันทึกคำพูดของท่านเป็นชวเลข บางครั้งก็ใช้เครื่องพิมพ์ดีด หน้าที่หลักของฉันคือทำอาหารเพื่อให้พวกเขาทำงานต่อเนื่องได้โดยไม่สะดุด!
เมื่อ อัตชีวประวัติของโยคี ถูกส่งมาจากสำนักพิมพ์ เราดีใจกันอย่างมาก คุรุจีต้องการให้เราส่งหนังสือให้กับผู้ที่สั่งจองล่วงหน้าโดยทันที! ดังนั้นแล้วหลังจากดีใจกันในตอนแรก เราก็ง่วนอยู่กับการจัดส่งตามการสั่งจองที่มีมากมาย ซิสเตอร์ชิลาและฉันห่อหนังสือหลายเล่ม ติดแสตมป์ ทำให้พร้อมสำหรับการจัดส่ง แล้วเราก็ขับรถมา เปิดฝากระโปรงและประตูทุกบาน พอรถเต็ม เราก็ขับนำเอาห่อหนังสือไปที่ไปรษณีย์กลางในลอสแอนเจลีส เราดีใจมาก ในที่สุดผู้คนทุกหนแห่งกำลังจะได้เข้าถึง อัตชีวประวัติของโยคี!
ภราดาภักตนันทะ
ไม่นานหลังจากที่ผมเข้ามาพำนักในอาศรมในปี 1939 ท่านปรมหังสาจีได้พูดคุยกับพวกเราสองสามคนบนระเบียงตึกทำการที่เมานต์วอชิงตัน ท่านปรารภกับเราว่าพระเจ้าบอกให้ท่านเขียนหนังสือบางเล่มในชีวิตนี้ และเมื่อหนังสือเหล่านี้เสร็จ ภารกิจของท่านบนโลกนี้ก็จะจบลง อัตชีวประวัติของโยคี เป็นหนึ่งในหนังสือเหล่านั้น เมื่อ อัตชีวประวัติพิมพ์เสร็จออกมาครั้งแรก ผมอ่านตั้งแต่ปกหน้าจนถึงปกหลังภายในหนึ่งหรือสองวัน ช่างเป็นหนังสือที่ยอดเยี่ยมและสร้างแรงบันดาลใจอย่างยิ่ง! ผมจำได้ว่าผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้จะมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นความสนใจในคำสอนของท่านปรมหังสาจี จนถึงทุกวันนี้ เรายังเห็นแค่เพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น
อุมามาตา
เมื่อฉันพบท่านปรมหังสา โยคานันทะในปี 1943 ฉันอายุเก้าขวบ พ่อของฉันเป็นสมาชิกของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ และเข้าร่วมพิธีกรรมที่อารามในซานดิเอโก ในปี 1947 ฉันอ่าน อัตชีวประวัติของโยคี ที่ท่านปรมหังสา มอบให้กับพ่อ พ่อของฉันเป็นคนที่ถ่อมตัวมากและไม่เคยพยายามชักชวนให้คนอื่นเชื่อเหมือนตัวเอง ผลก็คือ พ่อไม่เคยเอาหนังสือให้ฉันดูเลย— ฉันพบมันโดยบังเอิญ ซึ่งฉันต้องใช้เวลาพอสมควรที่จะอ่าน เพราะฉันยังเด็กนักและหนังสือก็มีคำยากๆ มากมาย! ถึงกระนั้น อัตชีวประวัติของโยคี ก็เป็นที่พึ่งสำหรับฉันตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นยารักษาสำหรับวิญญาณของฉัน... ยิ่งกว่านั้น อัตชีวประวัติของโยคี เผยให้เห็นว่าเราทุกคนสามารถรู้จักพระเจ้าได้
มุกติมาตา
ฉันจำได้ถึงคริสตมาสครั้งแรกในอาศรมในปี 1946 อัตชีวประวัติของโยคี เสร็จออกมา และท่านปรมหังสาจีมอบหนังสือให้เราทุกคน แต่ละหน้าหนังสือสื่อให้เห็นถึงบุคลิกของคุรุของเราที่สดใสและน่ารื่นรมย์ได้อย่างมีพลัง ทั้งความรักและความเบิกบานที่เรารับรู้ได้เมื่อยามที่อยู่กับท่าน เรารู้สึกเป็นปีติเพียงใดเวลาที่ได้ฟังท่านเล่าถึงเรื่องราวมากมายเหมือนที่อยู่ในหนังสือ ด้วยหนังสือเล่มนี้ ทุกคนจะได้มีประสบการณ์เช่นนั้น
ซิสเตอร์ปารวตี
ฉันจำได้อย่างแจ่มชัดเมื่อ อัตชีวประวัติของโยคี ออกมาครั้งแรก หลังจากนั้นไม่นาน ฉันขอให้ท่านปรมหังสาจีเขียนแง่คิดสักเล็กน้อยลงในหนังสือของฉัน ท่านเขียนว่า “หาองค์พระผู้เป็นเจ้าที่ซ่อนอยู่บนแท่นบูชาแห่งหน้าหนังสือนี้” บางทีเวลาฉันมีความต้องการเฉพาะบางอย่าง ฉันก็จะเปิด อัตชีวประวัติ อ่านดูเนื้อหาที่ฉันคิดว่า “ฉันจำไม่ได้เลยว่าเคยเห็นมาก่อน!” แต่กระนั้นมันพูดถึงสิ่งที่ฉันกำลังต้องเผชิญอยู่ในตอนนั้นพอดี แม้ว่าฉันจะไม่รู้ว่าจะไปเปิดหาตรงส่วนไหนในหนังสือ แต่เนื้อหานั้นก็จะกระโดดออกมาให้ฉันเห็นในเวลาจำเป็น ฉันพบว่าคำแนะนำของท่านอาจารย์เป็นจริงอย่างยิ่ง นั่นคือ—เธอสามารถพบพระผู้เป็นเจ้าซ่อนอยู่บนแท่นบูชาแห่งหน้าหนังสือนี้
ภราดาอานันทโมยี
ตอนผมเข้าวัยรุ่น ผมได้ใช้เวลาวันหยุดหน้าร้อนหนึ่งกับป้าและลุงในชานเมืองวินเทอร์ทูร์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่แห่งหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์ ลุงของผมเป็นนักดนตรีและสมาชิกวงซิมโฟนีออเคสตรา เขาก็อยู่ในช่วงหยุดพักเหมือนกัน โดยใช้เวลาทำงานในสวนใหญ่ของเขา ผมช่วยลุงทำสวน และเพราะว่าลุงไม่มีลูก ลุงก็เลยสนใจผมมาก เวลาทำสวนเราเลยมี “ช่วงเวลาสนทนา” กันอย่างยาวนาน ผมพบว่าลุงมีความสนใจในปรัชญาตะวันออกอย่างมาก ผมตั้งใจฟังอย่างจดจ่อเวลาลุงบรรยายเรื่องกรรม การกลับชาติมาเกิด โลกทิพย์และเหตุโลก —โดยเฉพาะเรื่องนักบุญ หรือเหล่าครูบาอาจารย์ผู้เข้าถึงการรู้แจ้ง
ลุงเล่าเรื่องพระพุทธเจ้าว่าท่านเข้าถึงสภาวะแห่งปีตินั้นได้อย่างไร รวมไปถึงนักบุญอื่นๆ ด้วย เรื่องเหล่านี้จุดประกายความปรารถนาในใจลึกๆ ให้ผมเดินตามตัวอย่างของพวกท่าน ผมจำได้ว่าผมเดินไปเดินมาและท่องในใจซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า รู้แจ้ง รู้แจ้ง แม้ว่าผมจะไม่เข้าใจความหมายของคำนี้อย่างเต็มที่ แน่นอนว่า ผมรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าที่มนุษย์ทั่วไปมีแน่ๆ ไม่ว่าคนๆ นั้น จะประสบความสำเร็จในการงานทางวัตถุหรือศิลปะเพียงใดก็ตาม แต่จะทำได้อย่างไร ลุงก็ไม่รู้เช่นกัน ลุงพูดว่าเราต้องมีคุรุที่จะสอนเราทุกสิ่งทุกอย่าง พอผมบอกว่าผมอยากจะพบคุรุมาก ลุงก็ส่ายหัวและยิ้มบอกว่า “เด็กที่น่าสงสาร เราไม่มีคุรุในสวิตเซอร์แลนด์หรอก!”
ผมเลยเริ่มสวดขอคุรุ ความปรารถนาที่จะมีครูบาอาจารย์ของผมมีมากเหลือเกิน จนหลังจากที่ผมกลับบ้านแล้ว ผมจะไปที่สถานีรถไฟ รอคอยหลายชั่วโมง หวังว่า “ท่าน” จะมา แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
หลังจากที่ผมเรียนจบ ผมช่วยงานธุรกิจของพ่อเป็นเวลาสองปีด้วยความหงุดหงิดใจ ตอนนั้นผมล้มเลิกความสนใจในปรัชญาฮินดูไปแล้ว เพราะผมสิ้นหวังที่จะเจอคุรุ ผมเริ่มต้นทำงานในแวดวงศิลปะ หลังจากนั้นสามปี ผมได้รับเชิญไปสหรัฐเพื่อเรียนกับแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ สถาปนิกชื่อดัง
สัปดาห์แรกในอเมริกา ผมไปเยี่ยมลุงคนหนึ่งที่อพยพมาอยู่ที่ประเทศนี้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1920 ระหว่างที่คุยกัน เขาพูดถึงปรัชญาฮินดู พอผมบอกเขาว่าผมเคยศึกษาเรื่องนี้หลายปีก่อนหน้านี้ หน้าของลุงเปล่งประกาย เขาพาผมไปที่ห้องหนังสือส่วนตัวและให้ผมดู อัตชีวประวัติของโยคี ลุงชี้รูปของท่านปรมหังสา โยคานันทะที่หน้าปก แล้วถามว่า “เคยรู้จักเขาไหม” ผมตอบว่าไม่ ลุงจึงบอกว่า “นี่เป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ลุงเคยพบ เขาเป็นครูบาอาจารย์แท้จริง!”
“ลุงเคยพบท่านหรือ” ผมร้องด้วยความประหลาดใจ “ท่านอยู่ที่ไหน ไม่ใช่ในอเมริกาใช่ไหม!”
“ใช่ ท่านอยู่ที่ลอสแอนเจลีส” แล้วลุงก็บอกว่าลุงไปฟังบรรยายและเข้าร่วมชั้นเรียนของท่านปรมหังสาจีหลังจากมาประเทศนี้ได้ไม่นาน ผมลองคิดดู หลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ผมปรารถนาจะมีคุรุ ลุงของผมได้รู้จักคุรุและคำสอนของท่านแล้ว!
ผมอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างกระหายมาก นี่ก็เป็นความอัศจรรย์แล้ว ผมสนใจมากจนไม่ได้สังเกตว่านี่ก็คืออัศจรรย์แล้ว— ผมไม่รู้ภาษาอังกฤษดีพอที่จะอ่านหนังสือได้สักเล่ม แฟรค์ ลอยด์ ไรท์ก็เขียนอัตชีวประวัติเช่นกัน แต่ผมพยายามอย่างไร้ผลที่จะอ่านหน้าแรกๆ ผมต้องใช้เวลาอีกหนึ่งปีเต็มที่จะเรียนภาษาอังกฤษให้ดีพอที่จะอ่านหนังสือเล่มนั้น แต่ผมอ่าน อัตชีวประวัติของโยคี ตั้งแต่ปกหน้าจนปกหลังได้
ผมรับรู้ได้ในใจว่าผมได้พบสิ่งที่ต้องการแล้ว ผมตัดสินใจศึกษาคำสอนของท่านปรมหังสา โยคานันทะ และค้นหาพระเจ้า
อีกหลายเดือนต่อมา ผมเรียนภาษาอังกฤษได้ดีพอที่จะเดินทางไปลอสแอนเจลีส หวังว่าจะได้พบท่านอาจารย์ ขณะที่ผมเดินเข้าสู่พื้นที่ของศูนย์แม่ ผมสัมผัสถึงความศานติที่เปี่ยมล้น ที่ผมไม่เคยสัมผัสมาก่อนจากที่ใดเลย ผมรู้ว่าผมเข้ามายืนอยู่บนพื้นดินอันศักดิ์สิทธิ์แล้ว
เช้าวันอาทิตย์ ผมเข้าร่วมพิธีธรรมตอนเช้าของท่านปรมหังสาจีที่อารามฮอลลีวูด นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้พบท่านจริงๆ เป็นประสบการณ์ที่ไม่รู้ลืมเลือน หลังจากพิธีธรรม ท่านอาจารย์จะนั่งบนเก้าอี้แล้วให้ผู้คนเข้าไปทักทายท่าน ผมไม่สามารถอธิบายความรู้สึกขณะยืนเข้าแถวออกมาเป็นคำพูดได้ จนในที่สุด ผมมายืนต่อหน้าท่าน ท่านจับมือผม ผมมองเข้าไปในดวงตาที่เปล่งประกาย ล้ำลึกและอ่อนโยนของท่าน ไร้คำพูดใดๆ แต่ผมสัมผัสถึงความปีติสุขที่ไม่สามารถบรรยายได้ผ่านเข้ามาในตัวผมทางมือและดวงตาของท่าน
ผมออกจากอารามและเดินอย่างงงงันบนถนนซันเซ็ท ผมเปี่ยมล้นไปด้วยความปีติจนไม่สามารถเดินตรงๆ ได้ ผมเดินโซเซเหมือนคนเมา ไม่เพียงแค่นั้น ผมไม่สามารถเก็บความปีตินั้นไว้ภายในได้ ผมต้องหัวเราะออกมาเรื่อยๆ คนที่เดินบนทางเดินเท้าหันมาจ้องมอง คนที่เดินเข้ามาทางด้านหน้าผมพากันหลบไปข้างๆ ทาง ส่ายหัวด้วยความรังเกียจคนที่พวกเขาคิดว่าเมาในที่สาธารณะตอนเช้าวันอาทิตย์ ผมไม่สนใจอะไรทั้งนั้น ผมไม่เคยมีความสุขเท่านี้มาก่อนในชีวิต
ไม่นานหลังจากประสบการณ์นี้ ผมเข้าร่วมอาศรมของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพในฐานะนักบวช
ภราดาเปรมาโมยี
ภราดาเปรมาโมยีเป็นนักบวชที่เป็นลูกศิษย์ของท่านปรมหังสา โยคานันทะมากว่า 35 ปี ท่านรับหน้าที่ผู้อภิบาล รับผิดชอบให้การอบรมทางธรรมแก่นักบวชชายของคณะ จนกระทั่งท่านเสียชีวิตในปี 1990 ท่านได้เล่าเรื่องนี้ให้เหล่านักบวชชายฟัง
ภราดาเปรมาโมยีเกิดในสโลเวเนีย ด้วยเหตุที่ครอบครัวของท่านมีความเชื่อมโยงกับราชวงศ์และผู้มีอิทธิพลอื่นๆ หลังจากที่คอมมิวนิสต์ยึดครองบ้านเกิดของท่านเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านถูกบังคับให้หนีออกนอกประเทศ ในปี 1950 กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐเชิญให้ท่านอพยพไปอเมริกา
ก่อนหน้าที่ท่านจะนั่งเรือไปนิวยอร์กตอนฤดูใบไม้ร่วงปี 1950 ภราดาเปรมาโมยีได้รับของขวัญอำลาจากเอเวลินา แกลนซมันน์ เพื่อนเก่าของครอบครัว รูปร่างของของขวัญทำให้ท่านคิดว่ามันคือกล่องลูกอม ตอนอยู่บนเรือท่านจึงเปิดออกเพื่อแบ่งให้ผู้โดยสารคนอื่น แล้วท่านก็ประหลาดใจมาก เพราะมันไม่ใช่กล่องลูกอม แต่เป็นหนังสือ— อัตชีวประวัติของโยคี
แม้ว่าท่านจะรู้สึกประทับใจของขวัญชิ้นนี้ แต่ท่านก็ไม่ได้รู้สึกอยากอ่านในทันที แม้ว่าตอนอายุน้อยกว่านี้ ท่านจะเป็นนักอ่านตัวยง แต่ช่วงเวลานั้นก็จบไปแล้ว (ท่านบอกว่าหนังสือที่ท่านอ่านก่อนอายุ 15 มีมากกว่าหนังสือที่ท่านอ่านหลังจากนั้นทั้งชีวิตเสียอีก) ท่านยังคุ้นเคยกับปรัชญาตะวันออกเป็นอย่างดี เคยตกหลุมรักภควัทคีตาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นและจดจำเนื้อหาส่วนใหญ่ได้ ตอนที่ท่านเห็นหัวข้อของหนังสือที่เป็นของขวัญเล่มนี้ ปฏิกิริยาแรกก็คือ “ฉันจะไม่อ่านหรอก ฉันไม่อยากติดงอมแงม!”
ในอเมริกา ท่านเข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจหลากหลาย จนในที่สุดได้รับการเสนอตำแหน่งให้เป็นผู้ช่วยส่วนตัวของด๊าก ฮัมมาร์เฮิลด์ เลขาธิการสหประชาชาติ (ท่านปฏิเสธตำแหน่งนี้ไปก่อนจะมาอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย) หลายเดือนผ่านไป— อัตชีวประวัติ ก็ยังคงวางอยู่บนชั้นหนังสือในบ้านของท่านในนิวยอร์ก โดยท่านไม่ได้อ่าน ระหว่างนั้น นางแกลนซมันน์ (ซึ่งเป็นผู้แปล อัตชีวประวัติ เป็นภาษาอิตาลี) ได้ขอให้เพื่อนของเธอให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือ แต่ภราดาเปรมาโมยีก็ยังไม่ลองอ่านดูสักที จนในที่สุดนางแกลนซมันน์เขียนข้อความที่ทำให้เกิดผลบางอย่าง “บอกมาหน่อยว่าชอบหรือไม่ ขอให้บอกอะไรมาสักหน่อยเถิด!” —วันนั้นเป็นวันเกิดท่านพอดี คือวันที่ 6 มีนาคม ท่านกำลังอยู่ในอารมณ์แห่งการใคร่ครวญว่าจะทำอย่างไรดีกับชีวิต ท่านจึงหยิบหนังสือขึ้นมาแล้วเริ่มอ่าน
เหมือนว่าต้องมนตร์ ท่านอ่านหนังสือจบทั้งเล่มในคราวเดียว ท่านรับรู้ว่าท่านผู้เขียนมีความหยั่งรู้ทางธรรมที่เกินกว่าทุกคนที่ท่านเคยพบมา ท่านจึงตัดสินใจเขียนถึงท่านปรมหังสา โยคานันทะ
ภราดาเปรมาโมยีไม่รู้เลยว่าขณะที่ท่านกำลังส่งจดหมาย ท่านคุรุกำลังมีชีวิตอยู่ในโลกเป็นวันสุดท้าย
ภราดาเปรมาโมยีมารู้ว่าท่านคุรุได้ละสังขารไปแล้วหลังจากที่ได้รับจดหมายตอบกลับจากท่านศรีทยมาตา หลายเดือนผ่านไป ภราดาเปรมาโมยีไม่สามารถเอาความคิดเกี่ยวกับหนังสือและท่านผู้เขียนออกไปจากหัวได้ ฤดูร้อนปีนั้น ท่านจึงตัดสินใจขับรถไปลอสแอนเจลีสเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับคำสอนของท่านปรมหังสาจี เมื่อท่านเดินเข้าสู่สำนักงานใหญ่ของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ เป็นครั้งแรก ท่านได้รับรอยยิ้มจากคนแปลกหน้าทันที ชายผู้นั้นยิ้มกว้างและสวมกอดท่านด้วยความรักเหมือนเป็นเพื่อนเก่าที่รอคอยมานานและเปิดใจต้อนรับเป็นที่สุด ไม่มีคำพูดใด ๆ ระหว่างคนทั้งสอง หลังจากนั้นภราดาเปรมาโมยีจึงได้รับการแนะนำอย่างเป็นทางการให้รู้จักกับ “เพื่อนเก่า”คนใหม่— ที่ชื่อว่าราชรษิ ชนกนันทะ ประธานของสมาคม!
งนั้นแล้ว หนังสือที่ท่านปรมหังสาจีกล่าวว่าจะเป็น “ทูต” แทนตัวท่าน ได้ทำอัศจรรย์กับอีกหนึ่งวิญญาณ— เพราะว่าหลังจากวันนั้นเป็นต้นมา เส้นทางชีวิตของภราดาเปรมาโมยีได้กำหนดขึ้นมา
ซิสเตอร์ศานติ
ในปี 1952 ฉันทำงานเป็นเลขานุการของผู้ช่วยผู้จัดการที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ บนถนนวิลเชียร์ ในลอสแอนเจลีส งานของฉันเกี่ยวข้องกับคนชั้นสูงซึ่งน่าสนใจมาก ฉันได้พบกับบุคคลระดับโลกมากมาย แต่ฉันไม่รู้เลยว่าเมื่อชื่อของคนๆ หนึ่งมากระทบหูของฉันจะส่งผลต่อชีวิตของฉันมากเพียงใด
วันที่ 6 มีนาคม เลขานุการของผู้ผลิตภาพยนตร์คนหนึ่งโทรศัพท์มาที่โรงแรมและขอให้ส่งข้อความให้กับปรมหังสา โยคานันทะ ขณะที่ฉันได้ยินชื่อนั้น เหมือนมีเสียง “ระฆัง” ดังกังวานในอกของฉัน หัวของฉันล่องลอย ความปีติสุขเอ่อล้นขึ้นมาในหัวใจและในดวงจิต จนฉันไม่สามารถเดินตัวตรงได้ตอนเดินไปที่โต๊ะสำรองที่พักเพื่อจัดการส่งข้อความนี้ ฉันได้รับการบอกว่าไม่มีชื่อนี้จองที่พักในโรงแรม แต่ว่ามีท่านทูตอินเดียและผู้ติดตามเข้าพักอยู่ในขณะนี้ ตลอดทางเดินกลับออฟฟิศ ชื่อนี้ยังคงวนเวียนอยู่ในจิตสำนึกของฉัน และฉันรู้สึกเปี่ยมไปด้วยความรักและความปีติมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนั้นอีกสักครู่ผู้ผลิตภาพยนตร์โทรมาถามว่า “เลขาของผมบอกชื่ออะไรคุณไป” ฉันบอกเขาว่า “ปรมหังสา โยคานันทะ” เขาร้องว่า “ผมก็คิดว่าผมได้ยินเขาพูดอย่างนั้น! นั่นไม่ใช่ชื่อที่ผมบอกไป เขาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงพูดชื่อนั้นออกมา!”
ทั้งวันนั้นฉันอยู่ในสภาวะที่แปลกประหลาดของการตระหนักรู้ภายใน ฉันสัมผัสถึงความเชื่อมโยงกับชื่อนั้นอย่างลึกซึ้ง แล้วต่อมาก็เป็นวันที่ 7 มีนาคม วันแห่งลิขิตของท่านปรมหังสา โยคานันทะในการเข้าสู่มหาสมาธิ ฉันอ่านพบในหนังสือพิมพ์และรู้สึกเหมือนสูญเสียเพื่อนที่ดีที่สุดไป ฉันรู้สึกแย่มาก เหมือนชีวิตได้จบลงในทันใด ฉันเฝ้าแต่คิดว่า ฉันพลาดที่จะได้เจอเขาแล้ว ฉันรอเขามาทั้งชีวิตแล้วก็พลาดไปแล้ว แต่ฉันไม่รู้เลยว่าฉันหมายถึงอะไร เพราะฉันก็ไม่ได้แสวงหาครูหรือเส้นทางชีวิต แม้กระนั้น ในส่วนลึกของจิตสำนึกแล้ว ฉันรู้ว่ามันเป็นความจริงที่ฉันพลาดที่จะได้พบคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตไปแล้ว
จากนั้นเป็นต้นมาชีวิตที่เป็นระบบระเบียบและชีวิตที่ค่อนข้างมีสีสันไม่เหมาะกับฉันอีกต่อไป ฉันยกเลิกแผนงานที่สำคัญๆ โดยทันที เลิกที่จะพบปะผู้คนที่ฉันรู้จัก แล้วเริ่มแสวงหาผ่านหนังสือ ฉันไม่เคยคิดจะหาว่าท่านปรมหังสา โยคานันทะเคยเขียนหนังสือไว้หรือไม่ ฉันเพียงแค่คิดว่าท่านจากไปแล้วและฉันพลาดที่จะได้เจอท่าน หลังจากอ่านหนังสือด้านอภิปรัชญาไปสี่เล่ม ฉันก็ยังไม่รู้สึกได้รับการเติมเต็มความต้องการลึกๆ ฉันจึงไปหาหนังสือเพิ่มเติมจากชั้นวางหนังสือแถวเดิมในห้องสมุดประชาชนที่ฮอลลีวูดกับแม่ของฉัน แม่รู้ว่าในใจฉันมีประกายไฟบางอย่างลุกโชนอยู่ ฉันเกือบจะเดินผ่านส่วนแรกที่คิดว่าดูอย่างถี่ถ้วนหมดแล้ว หนังสือเล่มหนึ่งก็หล่นลงมาจากชั้นบนสุดโดนหัวของฉัน แล้วตกลงไปบนพื้น แม่หยิบมันขึ้นมา จับมันไว้แน่นแล้วหันหน้าหนังสือมาทางฉัน—อัตชีวประวัติของโยคี โดย ปรมหังสา โยคานันทะ ชื่อที่หัวใจฉันโหยหาอยู่ตรงหน้าฉัน พร้อมกับใบหน้าที่มีดวงตามองลึกเข้าไปถึงวิญญาณ!
ฉันอ่านหนังสือนั้นตอนกลางคืน แม่อ่านขณะที่ฉันไปทำงาน “การอ่าน” อาจจะไม่เพียงพอที่จะบรรยายวิธีที่เราดื่มด่ำในประสบการณ์การก้าวเข้าสู่โลกแห่งสัจจะ ทั้งเรื่องจุดกำเนิดของชีวิต การเป็นศิษย์ และการเผยแผ่กริยาโยคะ—ได้รับการอธิบายอย่างชัดเจนใน อัตชีวประวัติของโยคี
เราไปร่วมพิธีกรรมที่อารามฮอลลีวูด ซึ่งเต็มเป็นไปด้วย “ความรู้สึก” ว่ามีพลังท่วมท้นฉันอย่างที่เคยเป็นเมื่อเช้าวันแรกที่ฉันได้ยินชื่อคุรุทางโทรศัพท์ หลังจากพิธีเสร็จลง มีรมาตาต้อนรับเราด้วยความเมตตา ไม่นานหลังจากนั้นเธอแนะนำให้เราไปที่ศูนย์แม่ที่เมานต์วอชิงตันและพบกับมฤนลินีมาตา เราจึงไปที่นั่นแล้วได้เรียนรู้เกี่ยวกับคณะนักบวช ฉันถูก “ตรึง” เป็นครั้งที่สาม—หลังจากครั้งแรกโดยชื่อ ปรมหังสา โยคานันทะ ครั้งที่สองโดย อัตชีวประวัติของโยคี และครั้งนี้จากชีวิตในอุดมคติของการสละละเพื่ออุทิศตัวให้กับพระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงผู้เดียว
หลังจากที่ฉันเล่าเรื่องผลที่เกิดขึ้นจากการได้ยินชื่อท่านปรมหังสาจีในวันที่ 6 มีนาคม ฉันได้รับรู้ว่า ตอนเช้าวันนั้นท่านอยู่ที่โรงแรม และร่วมรับประทานอาหารเช้ากับท่านเอกอัครราชทูตอินเดีย พินัย อาร์. เสน ในห้องติดกับออฟฟิศของฉัน ท่านอาจารย์นั่งอยู่อีกด้านหนึ่งของกำแพงห้องของฉันขณะที่ฉันได้รับโทรศัพท์และได้ยินชื่อของท่าน
ท่านคุรุได้เรียกศิษย์ทุกคน “ของท่าน” ผ่านทางอัตชีวประวัติที่ยิ่งใหญ่ของท่าน พวกเราบางคนอาจจะใช้เวลานานเกินไปหน่อยและต้องถูกตีบนหัวอย่างเช่นฉันก่อนจะตอบรับ! ถึงกระนั้นแต่ละคนในล้านคนที่ได้ยิน “เสียง” ของท่าน และตอบรับเสียงเรียกอันดังนั้นก็นับว่าเป็นผู้มีบุญยิ่งนัก
ความคิดเห็นและบทวิจารณ์ที่โดดเด่น
ความคิดเห็นเกี่ยวกับ อัตชีวประวัติของโยคี
“ในฐานะบันทึกจากผู้ที่ได้ประสบพบเห็นอำนาจและชีวิตอันพิสดารของประดาโยคีฮินดูในยุคสมัยใหม่มากับตาตนเอง หนังสือเล่มนี้จึงมีความสำคัญ คือถูกจังหวะ กาละ และจะอยู่ต่อไปชั่วกาล... อัตชีวประวัติอันไม่ธรรมดาของท่านนับเป็นการเปิดเผย...ความรุ่มรวยทางธรรมของอินเดียอย่างลึกซึ้งที่สุดเท่าที่เคยตีพิมพ์มาในโลกตะวันตก”
— ดับเบิลยู. วาย. อีวานส์-เวนทซ์, M.A., D.Litt., D.Sc.,
นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงและผู้ประพันธ์หนังสือมากมายเกี่ยวกับศาสนาตะวันออก
“ผมรู้สึกขอบพระคุณท่านอย่างมาก ที่ท่านได้ให้ผมเข้าถึงความเข้าใจในโลกที่น่าทึ่งนี้”
— โทมัส แมนน์, Nobel laureate
“มีหนังสือจำนวนน้อยมาก... ที่จะทรงอิทธิพลต่อเทววิทยาอันเป็นที่รู้จักมากไปกว่า อัตชีวประวัติของโยคี ของท่านปรมหังสา โยคานันทะ”
— ฟิลลิส เอ. ทิกเกิ้ล
ผู้เขียน หนังสือ God-Talk in America
“ในหนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี อันเลื่องลือ [ของท่านโยคานันทะ] ท่านนำเสนอเรื่องราวของ ‘จิตจักรวาล’ ที่น่าทึ่ง ซึ่งเข้าถึงได้จากการฝึกโยคะขั้นสูง พร้อมทั้งแง่คิดที่น่าสนใจมากมายในเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ตามมุมมองของโยคะและเวทานตะ”
— โรเบิร์ต เอส. เอลวูด, Ph.D.,
ประธานวิทยาลัยศาสนาแห่งมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย
“อัตชีวประวัติของโยคี ควรค่าแก่การยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนังสือทางวิถีธรรมที่ให้ทั้งความสว่างทางปัญญาและความเพลิดเพลินในการอ่านมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา”
— ทอม บัตเลอร์-บาวเดน
ผู้เขียน 50 Spiritual Classics: Timeless Wisdom from 50 Great Books of Inner Discovery, Enlightenment & Purpose
“นี่เป็นเรื่องราวชีวิตที่เรียบง่ายอย่างมีเสน่ห์และเปิดเผยตัวตนมากที่สุดเล่มหนึ่ง...เป็นขุมทรัพย์แห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง ผู้คนที่ยิ่งใหญ่ที่เราจะพบในหน้าหนังสือเหล่านี้...กลับสู่ความทรงจำในฐานะมิตรที่เปี่ยมด้วยปัญญาทางธรรมอันรุ่มรวย หนึ่งในผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดนี้คือตัวผู้ประพันธ์ที่ดื่มด่ำอยู่ในองค์พระผู้เป็นเจ้านั่นเอง”
— ดร. แอนนา ฟอน เฮมโฮลซ์ ฟิลัน
ศาสตราจารย์ด้านภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยมินนิโซตา
“ผ่านไปหลายทศวรรษ อัตชีวประวัติของโยคี ยังคงเป็นหนังสือขายดีประจำร้านของเรา ขณะที่หนังสืออื่นผ่านมาแล้วผ่านไป หนังสือเล่มนี้ยังคงอยู่เพราะผ่านการตั้งคำถามอย่างวิพากษ์มาเป็นเวลานาน จนแสดงให้เห็นว่าหนังสือนี้ได้เปิดประตูสู่การเติมเต็มทางธรรมอย่างลึกซึ้งและน่าศรัทธา”
— ร้านหนังสือโพธิทรี ในลอสแอนเจลีส
“ผมเก็บ อัตชีวประวัติของโยคี เอาไว้รอบบ้านเป็นตั้งๆ เพื่อไว้แจกคน เวลาที่เห็นใครต้องการหาสมดุลชีวิต ผมจะบอกให้ลองเอาไปอ่านดู เพราะหนังสือเล่มนี้ ตัดลึกเข้าถึงหัวใจของทุกศาสนา”
— จอร์จ แฮร์ริสัน
“คงเป็นเรื่องยากเย็นที่จะเจอคนบนหนทางแห่งธรรม ที่ชีวิตไม่ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมที่ลึกซึ้งนี้ หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมเริ่มต้นเดินบนหนทางแห่งโยคะ สมาธิและการแสวงหาตัวเองที่ต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้”
— แจ็ค แคนฟิลด์
ผู้ร่วมสร้าง Chicken Soup for the Soul® series
“อัตชีวประวัติของโยคี นี้ถือเป็นคัมภีร์อุปนิษัทแห่งยุคสมัยใหม่... สามารถตอบสนองความกระหายทางธรรมของผู้แสวงหาสัจธรรมทั่วทุกมุมโลกได้ ด้วยความทึ่งและอัศจรรย์ใจ พวกเราที่อยู่ในอินเดียต่างเฝ้ามองปรากฏการณ์ที่ผู้คนทั่วโลกหันมาสนใจเรื่องราวของโยคีและปรัชญาอินเดียกันมากขึ้นเพราะความนิยมในหนังสือเล่มนี้เป็นเหตุ เรารู้สึกพอใจและภาคภูมิใจที่หยาดน้ำอมฤตแห่งสนาตนธรรม หรือกฎแห่งสัจธรรมอันเป็นนิรันดร์ของอินเดีย ได้รับการเก็บรักษาเอาไว้เป็นอย่างดีในถ้วยทองคำของหนังสืออัตชีวประวัติของโยคี”
— ดร. อศุทศ ทาส, M.A., Ph.D., D.Litt.,
ศาสตราจารย์ แห่งมหาวิทยาลัยกัลกัตตา
“มีหนังสือในภาษาตะวันตกมากมายที่ว่าด้วยเรื่องปรัชญาอินเดียและโดยเฉพาะเรื่องโยคะ แต่ไม่มีเล่มใดที่เปิดเผยให้เราเห็นถึงประสบการณ์ของผู้ที่หลอมรวมเป็นหนึ่งและดำรงชีวิตด้วยหลักการเหล่านั้น”
— ดร. เคิร์ท เอฟ. ไลเดคเกอร์
ศาสตราจารย์ด้านปรัชญา มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย
“ผมพบท่านปรมหังสา โยคานันทะสองครั้งตอนผมเป็นเด็กในช่วงทศวรรษที่ 1930 ...ยี่สิบปีให้หลัง มีคนให้หนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี กับผม ทันทีที่ผมเริ่มอ่าน หนังสือทำบางสิ่งต่อผม ที่ผมบรรยายออกมาไม่ได้ ผมเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับโยคะ โดยโยคีมาแล้วมากมาย แต่ผมไม่เคยประทับใจเท่ากับเล่มนี้ หนังสือนี้มีมนตร์ขลัง”
— ระวี ซันการ์
นักดนตรีคลาสสิกอินเดีย
“หนังสือที่ผมฝันจะเป็นผู้เขียนมากที่สุดคือ อัตชีวประวัติของโยคี โดย ท่านปรมหังสา โยคานันทะ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ผมจะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์เหลือเชื่อทั้งหลายทั้งปวงที่ท่านเล่าจากการเติบโตในอินเดียตอนช่วงต้นของศตวรรษ ใครจะไม่อยากรู้จักเหล่าคุรุอันแท้จริงและเหล่านักบุญที่ยังมีชีวิตอยู่บ้างเล่า”
— น.พ. แอนดรูว์ ไวลล์
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และผู้เขียนหนังสือ Eight Weeks to Optimum Health
“สำหรับผู้ที่สนใจเรียนรู้ปรัชญาตะวันออกและวิธีปฏิบัติสมาธิ...หนังสือที่เติมเต็มชีวิตฉันอย่างล้นเหลือ และเป็นหนังสือเล่มโปรดของคนอีกหลายพันหลายหมื่น [คือ] อัตชีวประวัติของโยคี .... [ท่านปรมหังสา โยคานันทะ] เป็นนักเขียนที่รุ่มรวย และนักบวชที่อุทิศตนอย่างแรงกล้า หนังสืออัตชีวประวัติของท่านเป็นหนังสือที่น่าสนใจที่สุดเล่มหนึ่งที่เรามีในปัจจุบัน”
— เคท ทัทเทิล
San Diego Union-Tribune
ซื้อหนังสือ
อัตชีวประวัติของโยคี ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 50 จัดแสดงโดยนักบวชและเจ้าหน้าที่ของเอสอาร์เอฟ ที่ศูนย์การพิมพ์เอสอาร์เอฟ
ฉบับพิมพ์ปกอ่อน
อัตชีวประวัติของโยคี ยังมีในรูปแบบของ:
- ปกอ่อนที่มีคุณภาพ
- ปกแข็ง
- พิมพ์ตัวอักษรขนาดใหญ่
- ฉบับพิเศษ (ออกเร็ว ๆ นี้)