คำสอนของท่านปรมหังสา โยคานันทะ ในเรื่องการฝึกศาสตร์ของการทำสมาธิกริยาโยคะ ที่นำมาจากคำสอนในชั้นเรียนที่ท่านสอนมากกว่า 30 ปีก่อน จะมีอย่างละเอียดใน บทเรียนของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ
นอกจากนั้น ในบทเรียนยังมีคำแนะนำอย่างเป็นรูปธรรมและวิธีปฏิบัติต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความสมดุลของสุขภาวะทางร่างกาย จิตใจ และวิญญาณ อันรวมไปถึงสุขภาพที่แข็งแรง การเยียวยารักษา ความสำเร็จและความกลมกลืนที่โยคะจะมอบให้ทุกๆ แง่มุมของชีวิต หลักการของ “วิธีใช้ชีวิต” เหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการฝึกทำสมาธิให้สำเร็จอย่างแท้จริง
ถ้าท่านยังไม่ได้สมัครรับบทเรียน ท่านจะพบคำแนะนำเบื้องต้นว่าจะทำสมาธิอย่างไรในหน้าเว็บไซต์นี้ ท่านสามารถเริ่มต้นทำได้ทันทีเพื่อเริ่มสัมผัสกับสันติและการสนทนากับองค์พระผู้เป็นเจ้าที่ได้จากการทำสมาธิ
การทำสมาธิสำหรับผู้เริ่มต้น
คำแนะนำเพิ่มเติมเรื่องพื้นฐาน โดย ภราดาอาชาลานันทะ
หนทางการทำสมาธิอย่างลงลึก
ทำสมาธิร่วมกับสมาชิกเอสอาร์เอฟ และผองเพื่อนทั่วโลก อย่างสะดวกสบายที่บ้านของท่าน
ศึกษาวิธิปฏิบัติสมาธิเพิ่มเติมจากบทเรียนที่ศึกษาได้ด้วยตัวเองของท่านปรมหังสาโยคานันทะ
เรียนรู้ขั้นตอนพื้นฐานของการทำสมาธิสำหรับผู้เริ่มต้น ตามที่สอนโดยท่านปรมหังสา โยคานันทะ
หลังจากที่ท่านนั่งในท่าทำสมาธิแล้ว ให้เริ่มต้นโดยสวดอธิษฐานจากใจถึงพระเจ้า แสดงออกถึงความรักของท่านและขอพรจากพระองค์สำหรับการทำสมาธิ
เกร็งและคลายเพื่อปลดปล่อยความเครียดทั้งหมด
- หายใจเข้า เกร็งร่างกายทุกส่วนและกำมือ
- คลายร่างกายทุกส่วนในทันที ขณะเดียวกันหายใจออกทางปากด้วยลมหายใจออกสองจังหวะ “ฮะ, ฮาาา”
- ทำซ้ำเช่นนี้ 3-6 รอบ
แล้วลืมลมหายใจเสีย ให้ลมหายใจเข้าและออกเองอย่างเป็นธรรมชาติ ด้วยจังหวะของมันเอง เหมือนดังเช่นในการหายใจธรรมดา
จดจ่อจิตที่ตาธรรม
หลับตาลงครึ่งหนึ่ง (หรือหลับตาลงทั้งหมด ถ้าท่านรู้สึกสบายมากกว่า) มองขึ้นข้างบน ให้สายตาและจิตจดจ่อเหมือนมองผ่านจุดระหว่างคิ้วออกไป (คนที่กำลังมีจิตจดจ่ออย่างมากมักจะ “ขมวด” คิ้วเข้ามาที่จุดนี้) อย่าทำตาเขหรือทำให้ตาล้า การมองขึ้นข้างบนจะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติเมื่อเราผ่อนคลายและจดจ่อจิตอย่างสงบ
สิ่งสำคัญคือการจดจ่อจิตที่จุดระหว่างคิ้ว นี่เป็นศูนย์จิตพระคริสต์ ฐานของเอกจักษุที่พระเยซูกล่าวถึง “ตาเป็นประทีปของร่างกาย เพราะฉะนั้นถ้าตาของท่านเป็นหนึ่ง ตัวของท่านก็พลอยสว่างไปด้วย” (มัทธิว 6:22)
เมื่อบรรลุถึงเป้าหมายของการทำสมาธิ ผู้ภักดีจะพบว่าจิตของเขาจะจดจ่ออยู่ที่ตาธรรมโดยอัตโนมัติ และเขาจะสัมผัสถึงสภาวะความปีติสุขแห่งการรวมเป็นหนึ่งเดียวกับบรมวิญญาณ
การจะเห็นตาธรรมนี้ได้ต้องอาศัยการจดจ่อจิตอย่างลึกและความสงบ ตาธรรมนี้จะเป็นรัศมีสีทอง ล้อมรอบด้วยวงสีน้ำเงิน ตรงจุดศูนย์กลางจะมีดาวสีขาวห้าแฉกสั่นระรัวอยู่ ผู้ที่มองเห็นตาธรรมควรพยายามที่จะมองเข้าไปข้างในด้วยการจดจ่ออย่างลึกซึ้งและด้วยการอธิษฐานต่อพระเจ้าอย่างศรัทธา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะอาศัยความสงบและการจดจ่อจิตอย่างลึกล้ำ ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการฝึกการจดจ่อจิตและทำสมาธิด้วยศาสตร์ของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ อย่างต่อเนื่อง [มีสอนในบทเรียนของ เซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ]
สนทนากับพระเจ้าด้วยภาษาจากหัวใจของท่าน
ไม่ว่าท่านจะเห็นแสงของตาธรรมหรือไม่ ท่านควรจะจดจ่อที่ศูนย์จิตพระคริสต์ที่อยู่ระหว่างคิ้วไปเรื่อยๆ อธิษฐานอย่างลึกซึ้งต่อพระเจ้าและเหล่านักบุญที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ ปลุกเร้าให้สัมผัสถึงพวกท่านและขอพระพรด้วยภาษาจากหัวใจของคุณ
การฝึกปฏิบัติที่ดีอย่างหนึ่งก็คือ ใช้คำย้ำเตือนหรือคำอธิษฐานจากบทเรียนของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ หรือจากหนังสือของท่านโยคานันทะ Whisper from Eternity หรือ อภิปัญญาสมาธิ แล้วทำให้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าของท่าน
ร้องเพลงสวดและอธิษฐานต่อพระเจ้าอย่างเงียบๆ ปักจิตอยู่ที่จุดระหว่างคิ้วจนท่านรู้สึกถึงการตอบสนองจากพระองค์ ที่สัมผัสได้จากความสงบ ศานติสุขล้ำลึก และจากความปีติภายใน
ฝึกปฏิบัติทุกวันเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวิธีปฏิบัติที่ลึกล้ำ
ช่วงเวลาการทำสมาธิควรนานอย่างน้อย 30 นาที ในตอนเช้า และ 30 นาทีในตอนกลางคืน ยิ่งท่านปฏิบัตินานขึ้นและเป็นสุขกับสภาวะของความสงบจากสมาธิ ท่านจะยิ่งพัฒนาทางธรรมได้เร็วขึ้น นำพาความสงบที่ท่านสัมผัสได้ในการทำสมาธิไปสู่ชีวิตประจำวัน ความสงบนั้นจะช่วยนำมาซึ่งความสอดคล้องและความสุขในทุกๆ ด้านของชีวิตท่าน
ด้วยการฝึกฝนทุกวันตามคำสอนที่ว่ามานี้ ท่านจะสามารถเตรียมความพร้อมสำหรับวิธีการจดจ่อจิตและการสมาธิที่ลึกขึ้น ซึ่งจะสอนอยู่ในบทเรียนของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ วิธีปฏิบัติอันเป็นวิทยาศาสตร์เหล่านี้จะช่วยให้ท่านดำดิ่งลงสู่มหาสมุทรแห่งสภาวะการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าได้ลึกยิ่งขึ้น เราทั้งหมดดำรงอยู่ในมหาสมุทรแห่งบรมวิญญาณนั้นอยู่แล้ว ณ เวลานี้ แต่ด้วยการทำสมาธิอย่างต่อเนื่อง เปี่ยมด้วยศรัทธาและเป็นวิทยาศาสตร์เท่านั้น ที่เราจะรับรู้ได้ว่าเราเป็นลูกคลื่นแห่งวิญญาณบนมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ของความปีติสุขแห่งพระผู้เป็นเจ้า
จากงานเขียนของท่านปรมหังสา โยคานันทะ:
“ขั้นแรกของการเข้าสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ภักดีควรนั่งนิ่งในท่าทำสมาธิที่ถูกต้อง หลังตรง เกร็งและผ่อนคลายร่างกาย—การได้ผ่อนคลาย ทำให้จิตสำนึกปลดปล่อยออกจากล้ามเนื้อ
“โยคีเริ่มด้วยการหายใจลึกอย่างถูกวิธี หายใจเข้าแล้วเกร็งร่างกายทั้งหมด หายใจออกและผ่อนคลาย ทำหลายๆ ครั้ง ทุกครั้งที่ปล่อยลมหายใจออก ความเครียดในกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวทั้งหมดจะถูกกำจัดออกไป จนกระทั่งร่างกายเข้าถึงความสงบ
“จากนั้น ทำให้จิตหยุดการเคลื่อนไหวด้วยวิธีการจดจ่อจิต เมื่อกายและจิตสงบแล้วอย่างบริบูรณ์ โยคีเข้าถึงความสงบสุขแห่งวิญญาณอันเหลือที่จะกล่าว
“กายหยาบเป็นที่อยู่ของชีวิต จิตเป็นที่อยู่ของแสง วิญญาณเป็นที่อยู่ของศานติ ยิ่งบุคคลหยั่งลึกถึงวิญญาณมากเท่าใด เขาจะสงบมากขึ้นเท่านั้น นั่นคืออภิจิต
“ในการทำสมาธิที่ลึกล้ำจะทำให้ผู้ภักดีขยายความตื่นรู้ของความสงบ และรู้สึกถึงจิตสำนึกของเขาแผ่ขยายไปด้วยเหนือจักรวาล ทุกสรรพชีวิตและสรรพสิ่งทั้งหลายกลืนกลายอยู่ในศานตินี้ เขาย่อมเข้าถึงจิตจักรวาล เขาสัมผัสศานตินี้ได้ในทุกที่—ในดอกไม้ ในมนุษย์ทุกคน ในบรรยากาศ เขาเห็นแผ่นดินและโลกทั้งหลายล่องลอยดุจพรายฟองในมหาสมุทรแห่งศานติ”
— ปรมหังสา โยคานันทะ, โยคะแห่งพระเยซู

ศึกษาวิธิปฏิบัติสมาธิเพิ่มเติมจากบทเรียนที่ศึกษาได้ด้วยตัวเองของท่านปรมหังสาโยคานันทะ
สิ่งแรกที่จำเป็นสำหรับการทำสมาธิคือท่านั่งที่ถูกต้อง กระดูกสันหลังควรตั้งตรง ในหน้านี้ท่านจะพบกับคำสอนเรียบง่ายเรื่องท่านั่งที่ทำให้การทำสมาธิมีประสิทธิภาพ
กระดูกสันหลังตั้งตรง
ขณะทำสมาธิกระดูกสันหลังควรตั้งตรง เมื่อผู้ปฏิบัติแสวงหาหนทางที่จะนำพาจิตและพลังชีวิตขึ้นผ่านแกนสมองร่วมไขสันหลัง ไปสู่จักระของจิตสำนึกขั้นสูงในสมอง เขาควรหลีกเลี่ยงการทำให้เส้นประสาทในไขสันหลังหดตัวหรือบีบรัดจากท่านั่งที่ไม่ถูกต้อง เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ เขาควรนั่งในท่าที่อธิบายมาข้างล่างนี้
นั่งขัดสมาธิ หรือ นั่งบนเก้าอี้ไม่มีเท้าแขน
คนที่ขามีความยืดหยุ่นอาจจะชอบที่จะนั่งขัดสมาธิบนเบาะที่วางบนพื้น หรือบนเตียงที่แข็ง
อย่างไรก็ดี ท่านปรมหังสา โยคานันทะแนะนำท่านั่งทำสมาธิดังนี้:
นั่งบนเก้าอี้พนักตรงไม่มีที่เท้าแขน วางเท้าราบกับพื้น ยืดกระดูกสันหลังให้ตรง เก็บท้องเข้าข้างใน อกผายออก ดึงไหล่ไปด้านหลัง คางขนานกับพื้น หงายฝ่ามือขึ้นและวางบนขาหนีบ ตรงจุดที่ต้นขาต่อกับบริเวณท้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเอนไปข้างหน้า
ถ้ามีท่านั่งที่ถูกต้องแล้ว ร่างกายจะมั่นคงแต่ผ่อนคลาย จึงทำให้สามารถนั่งนิ่งได้อย่างสมบูรณ์โดยง่าย และไม่มีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ
วิธีทำต่อไปนี้ให้นำไปใช้กับท่านั่งขัดสมาธิเช่นกัน ยกเว้นตำแหน่งของขาและเท้า
ตอนนี้ ขอให้หลับตาลงและเหลือบตาขึ้นข้างบนอย่างอ่อนโยน โดยไม่เกร็ง มองขึ้นไปที่จุดระหว่างคิ้ว ที่นั่นคือฐานแห่งการจดจ่อจิต และตาธรรมแห่งการรับรู้องค์พระผู้เป็นเจ้า
จากงานเขียนของท่านปรมหังสา โยคานันทะ:
“ถ้าโยคีที่ฝึกใหม่นั่งสมาธิบนพื้นแข็ง เขาจะรู้สึกชาที่ขา เพราะน้ำหนักที่ทับบนเนื้อและเส้นเลือดใหญ่ แต่ถ้าเขานั่งบนผ้าห่มที่ปูทับบนเบาะ หรือบนแผ่นรองนั่งที่วางบนพื้น หรือบนเตียงแข็ง เขาจะไม่รู้สึกเจ็บขา ชาวตะวันตกชินกับการนั่งบนเก้าอี้ โดยให้ต้นขาทั้งสองข้างทำมุมฉากกับลำตัว เขาจะรู้สึกทำสมาธิได้สบายขึ้น ถ้านั่งสมาธิบนเก้าอี้ที่ปูด้วยผ้าขนสัตว์กับผ้าไหม ปล่อยชายผ้ายาวไปถึงใต้ฝ่าเท้าที่วางอยู่บนพื้น โยคีชาวตะวันตก โดยเฉพาะโยคีหนุ่มสาวที่สามารถนั่งขัดสมาธิบนพื้นได้เหมือนชาวตะวันออก จะรู้สึกว่าเข่าของพวกเขายืดหยุ่นได้ดี เพราะเขาสามารถงอเข่าเป็นมุมแหลมได้ โยคีเช่นนี้อาจนั่งสมาธิในท่าดอกบัว หรือที่ง่ายกว่านั้นคือนั่งขัดตะหมาดธรรมดา
“ผู้ที่ยังไม่ชำนาญในการนั่งในท่าดอกบัว ไม่ควรนั่งในท่านี้ เพราะการนั่งสมาธิในท่าที่เกร็งเกินไปจะทำให้จิตคิดพะวงอยู่กับความไม่สบายของร่างกาย ปกติแล้ว การทำสมาธิควรฝึกทำในท่านั่ง ถ้าเขา (ยกเว้นผู้ที่ก้าวหน้าแล้ว) ทำสมาธิในท่ายืน เมื่อจิตกลับสู่ภายในเขาอาจล้มลงได้ และโยคีไม่ควรนอนทำสมาธิ เพราะเขาอาจ ‘ปฏิบัติ’ ไปหลับไป
“ท่าทำสมาธิที่ถูกต้องซึ่งทำให้กายและจิตสงบ เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้โยคีถอนจิตจากวัตถุสู่บรมวิญญาณ”
— ปรมหังสา โยคานันทะ, ภควัทคีตา: พระเจ้าสนทนากับอรชุน
ศึกษาวิธิปฏิบัติสมาธิเพิ่มเติมจากบทเรียนที่ศึกษาได้ด้วยตัวเองของท่านปรมหังสาโยคานันทะ
หาสถานที่เงียบสงบ ที่ท่านจะอยู่ตามลำพัง โดยไม่ถูกรบกวนระหว่างการทำสมาธิ สร้างพื้นที่เฉพาะไว้สำหรับใช้เพื่อการฝึกทำสมาธิเท่านั้น (ดูคำแนะนำจากท่านปรมหังสา โยคานันทะ ข้างล่าง)

จากงานเขียนของท่านปรมหังสา โยคานันทะ:
“ห้องรับแขกปลุกจิตทางสังคม ห้องสมุดส่งเสริมจิตใจรักการอ่าน ห้องนอนชวนให้หลับฉันใด บุคคลควรมีห้องหรือมุมหนึ่งซึ่งแยกห่างออกไป หรือห้องแคบๆ ที่ลมถ่ายเทได้ดี เป็นที่ปฏิบัติสมาธิอย่างเงียบๆ ฉันนั้น บ้านโบราณในอินเดียมักมีสถานที่เช่นนี้เป็นที่บูชาประจำวัน
“วิหารในบ้านของตนเองเสริมสร้างวิถีธรรมได้ดี เพราะเป็นที่ส่วนตัวต่างจากสถานที่บูชาสาธารณะ เป็นที่ที่จะแสดงความภักดีได้ดีได้ทันทีตลอดทั้งวัน เด็กๆ ในอินเดียไม่ถูกบังคับให้ไปโบสถ์ แต่ได้แรงดลใจจากการที่พ่อแม่ทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง
“ครอบครัวได้ฝึกการสร้างศานติในวิญญาณอย่างเงียบๆ ที่วิหารในบ้านนี้ ที่นี่พวกเขาได้ใคร่ครวญ ได้อธิษฐานและทำสมาธิเพิ่มพลังให้แก่วิญญาณ ได้สนทนากับพระเจ้า ได้ปรับตนสู่ปัญญารู้จักการแยกแยะ ที่จะจัดการชีวิตตามการสั่งของมโนธรรมและวิจารณญาณอันชอบธรรม
“การอธิษฐานจิตทำให้ตระหนักรู้ได้ว่า ศานติและการรับใช้อุดมการณ์เพื่อพระเจ้าคือเป้าหมายของชีวิต เพราะถ้าขาดสิ่งนี้เสียแล้ว ต่อให้ได้ทรัพย์สินมามากเพียงใดก็ไม่อาจประกันความสุขให้แก่เขาได้”
— ปรมหังสา โยคานันทะ, การเสด็จครั้งที่สองของพระคริสต์